Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

กลิ่นปาก ปัญหาภายในช่องปากที่กวนใจ


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

15-05-2022 16:17

หลายคนประสบกับปัญหากลิ่นปากที่ทำให้เสียความมั่นใจ และส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง จนเกิดความกังวลที่จะต้องสนทนากัน

ภาพประกอบเคส

หลายคนประสบกับปัญหากลิ่นปากที่ทำให้เสียความมั่นใจ และส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง จนเกิดความกังวลที่จะต้องสนทนากัน สาเหตุของกลิ่นปาก กลิ่นปากเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

สาเหตุจากปัญหาสุขภาพภายในช่องปาก
โดยส่วนใหญ่ประมาณ 90% มาจากภายในช่องปาก เพราะกลิ่นปาก เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งในปาก ไปทำการย่อยสลายสารประกอบประเภทโปรตีนที่ตกค้างอยู่ในช่องปากและลำคอ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นขึ้น นอกจากนี้ยังพบได้จากปัญหาอื่นๆ ในช่องปาก เช่น

  • ฝ้าขาวบนลิ้น
  • ฟันผุเป็นรูลึก ยิ่งเป็นรูลึกยิ่งมีกลิ่นเหม็นมาก
  • มีเศษอาหารตกค้างอยู่ตามซอกฟัน
  • โรคเหงือกอักเสบซึ่งเกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาด ทำให้มีแผ่นคราบฟันและหินปูนสะสม
  • ภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย จากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ ในบางขณะจะมีการหลั่งของน้ำลายลดลงตามธรรมชาติก็จะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ เช่น เวลานอน ภาวะอดอาหาร หรือหิว ตลอดจนภาวะเครียด อาชีพที่ใช้เสียงมากๆ เช่น ครู ทนายความ จะมีผลให้น้ำลายลดลง ทำให้มีกลิ่นปากได้
  • การสูบบุหรี่ หรือกินอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม เครื่องเทศ หัวหอม เป็นต้น

สาเหตุจากภายนอกช่องปาก

  • ระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่เกิดจากการมีน้ำมูกไหลลงคอทางด้านหลังโพรงจมูก และการมีเศษอาหารติดอยู่ตามร่องของต่อมทอนซิล
  • ระบบทางเดินทางอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากการมีแบคทีเรียส่วนเกินในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ซึ่งมักจะมีอาการท้องอืด แน่น เรอมีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้อาหารบางชนิดเมื่อรับประทานจะมีกลิ่นขับออกมาทางลมหายใจ เช่น กระเทียม ทุเรียน หัวหอม เครื่องเทศ ผู้ที่ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือท้องผูกหลายๆ วัน ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้

การป้องกันและแก้ไขปัญหากลิ่นปาก

ควรหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และทำการแก้ไข การใช้เพียงน้ำยาบ้วนปากหรือลูกอมเพื่อระงับกลิ่นปากนั้นทำได้เพียงชั่วคราว ควรดูแลทำความสะอาดช่องปากให้ทั่วถึง รวมทั้งร่องลึกบนลิ้นและโคนลิ้น หากมีฟันปลอมก็ควรถอดล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร ดื่มน้ำให้เพียงพอไม่ปล่อยให้ปากแห้ง และพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก ทำการรักษาฟันผุ และโรคเหงือกอักเสบ ขูดหินปูน รวมทั้งรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปากอย่างถูกวิธี

ที่มา :
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล https://bit.ly/3MKsqtN
- กระทรวงสาธารณสุข https://bit.ly/3rYKSqs


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท