ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) ผลกระทบระยะยาวของผู้ป่วยโควิด19
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: โควิด
15-05-2022 14:00
Long COVID-19 (ลองโควิด) คือ ผู้ป่วยโควิด19 หายจากการติดเชื้อแล้ว แต่ยังคงมีอาการผิดปกติยาวนานกว่า 4 สัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่ตามปกติแล้วเชื้อโควิด-19 นั้นมักจะหายไปในไม่กี่สัปดาห์หลังการติดเชื้อ และจากรายงานการวิจัยหลายฉบับมีการระบุไว้ว่า 80% ของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีอาการ อ่อนเพลีย ปวดหัว ขาดสมาธิ ผมร่วง และหอบเหนื่อยมากที่สุด
Long COVID-19 (ลองโควิด) คือ ผู้ป่วยโควิด19 หายจากการติดเชื้อแล้ว แต่ยังคงมีอาการผิดปกติยาวนานกว่า 4 สัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่ตามปกติแล้วเชื้อโควิด-19 นั้นมักจะหายไปในไม่กี่สัปดาห์หลังการติดเชื้อ และจากรายงานการวิจัยหลายฉบับมีการระบุไว้ว่า 80% ของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีอาการ อ่อนเพลีย ปวดหัว ขาดสมาธิ ผมร่วง และหอบเหนื่อยมากที่สุด
ภาวะ Long COVID ถูกแบ่งเป็นทั้งหมด 3 ประเภท ซึ่งแบ่งแยกตามลักษณะอาการดังนี้
1. ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการใหม่ หรืออาการเดิมไม่หายไป
คือการที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 นั้นมีอาการยาวนานต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหลังจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นครั้งแรก มักพบในคนไข้อาการรุนแรงตั้งแต่ต้น และทวีคูณความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือใช้สมาธิจดจ่อมาก ๆ โดยมีอาการ เช่น
- เป็นไข้ ปวดหัว วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
- หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม ไอ แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ปวดท้อง ท้องเสีย รับประทานอาหารไม่ลง
- ปวดหู หรือมีเสียงในหู
- ใจสั่น ขาดสมาธิ หรือคิดอะไรไม่ออก หัวตื้อ นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน
- มีอาการชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
- ไม่ได้กลิ่นหรือรับรสได้ไม่ดี
- ผื่นตามตัว
- รอบประจำเดือนมาผิดปกติ
2. ภาวะที่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความผิดปกติในหลายอวัยวะ
คือการที่ผู้ป่วยนั้นมีอาการผิดปกติเกี่ยวเนื่องกับอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย โดยมีสาเหตุจากปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาที่รุนแรง ส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะหลายส่วนถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยเอง มักพบมากที่บริเวณเนื้อเยื่อหัวใจ ปอด ไต สมอง และผิวหนัง และในเด็กอาจพบการเกิดโรค Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19 (MIS-C) ที่มีอาการโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) คือเกิดการอักเสบในหลายอวัยวะ มีไข้สูง ผื่นขึ้น ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่หรือหลังหายทันที โดยโรคนี้อาจมีผลกระทบต่อหลายอวัยวะ (multiorgan effects) ในระยะยาวได้
3.ผลกระทบระยะยาวจากการนอนโรงพยาบาลและจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
เป็นผลกระทบด้านจิตใจ ทำให้แขนขาไม่ค่อยมีแรงและยังคงรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่แม้จะไม่มีเชื้อโควิดอยู่แล้ว ในบางกรณีอาจมีผลต่อเรื่องการคิดและคำพูด นำไปสู่ภาวะที่มีอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบเหตุการณ์รุนแรง เช่น การได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือถูกปั๊มหัวใจในการช่วยชีวิต ส่งผลให้เกิดความเครียดฉับพลันและอาจสะสมมาอย่างต่อเนื่อง
จากการสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ของกรมการแพทย์ แสดงให้เห็นอาการที่พบได้บ่อย ดังนี้
- ระบบประสาท พบ 27.33% ได้แก่ อาการอ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน การปวด มึน ศีรษะ หลงลืม กล้ามเนื้อลีบ
- ระบบผิวหนัง พบ 22.8% ได้แก่ ผมร่วง ผื่นแพ้
- ระบบทางจิตใจ พบ 32.1% ได้แก่ นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด พบ 22.86% มีอาการเจ็บหน้าอก และใจสั่น
- ระบบทางเดินหายใจ 44.38% หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง
- ระบบทั่วไป 23.41% อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ
ทั้งนี้อาการผิดปกติดังกล่าวส่วนใหญ่จะหายได้เอง หากผู้ป่วยมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือน ควรพบแพทย์ทันที
ที่มา : กรมการแพทย์
: มหาวิทยาลัยมหิดล
https://bit.ly/3JuGyVG