อะเฟเซีย (Aphasia) ภาวะอาการทางสมองส่งผลต่อการสื่อสาร
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
15-05-2022 08:49
อะเฟเซีย (Aphasia) กลุ่มอาการทางระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียความสามารถของสมองในการสื่อสารด้วยภาษา
อะเฟเซีย (Aphasia) กลุ่มอาการทางระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียความสามารถของสมองในการสื่อสารด้วยภาษา
อาการของอะเฟเซีย (Aphasia)
อาการอะเฟเซียเกิดจากโรคทางระบบประสาทได้หลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บที่สมองที่ควบคุมความสามารถด้านภาษา โรคหลอดเลือดสมอง สมองอักเสบ เนื้องอกในระบบประสาท สมองเสื่อม เป็นต้น โดยการวินิจฉัยกลุ่มอาการผู้ป่วยต้องทำการซักประวัติอย่างละเอียด ซึ่งสาเหตุจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย โดยแบ่งกลุ่มอาการออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่ม 1 ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านการสั่งการด้วยภาษา เช่น พูดไม่ออก สะกดคำผิด เขียนไม่ได้ เขียนไม่เป็นคำ เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก
- กลุ่ม 2 ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านความเข้าใจภาษา เช่น ฟังไม่เข้าใจ อ่านไม่เข้าใจ
- กลุ่ม 3 ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทั้งด้านการสั่งการด้วยภาษาและความเข้าใจภาษา ทำให้มีลักษณะเงียบ เฉยเมย ไม่พูด และไม่เข้าใจภาษา
แนวทางการป้องกันและการรักษา
แนวทางการป้องกันและการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคที่เป็น นอกจากนี้ผู้ป่วยจะได้รับการแก้ไขภาวะนี้ด้วยการบำบัดฟื้นฟู การใช้ภาษาและการสื่อสารร่วมด้วย ผู้ป่วยอะเฟเซียที่สามารถฟื้นฟูได้ เช่น อาการอะเฟเซียจากอุบัติเหตุ หรือจากโรคหลอดเลือดสมอง หากอาการไม่รุนแรงมาก สามารถทำการบำบัดให้อาการดีขึ้นหรือทุเลาลงได้ด้วยการทำอรรถบำบัด ฝึกการพูด
หากมีสาเหตุของโรคจากระบบประสาทบางสาเหตุ เช่น สมองเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการถดถอยลง การดูแลรักษาจะเป็นการประคับประคองอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยแพทย์จะให้ข้อมูลในการดูแลแก่ญาติหรือคนใกล้ชิด
อย่างไรก็ตามหากพบอาการแสดงจากภาวะอะเฟเซีย และได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก จะให้ผลการรักษาดีกว่าการปล่อยอาการไว้ในระยะเวลานาน ควรมาพบแพทย์ประเมินหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://bit.ly/3J0iD07