Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

โรคผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata)


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

15-05-2022 08:44

โรคผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata) เป็นโรคผมร่วงที่พบบ่อยในทุกช่วงอายุ ผู้ป่วยมักมีอาการผมร่วงเฉพาะที่ บริเวณที่ผมร่วงมีลักษณะกลม หรือรี ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมากคือ ผมร่วงหมดทั้งศีรษะ (alopecia totalis) และมีขนบริเวณอื่นของร่างกายร่วงจนหมดร่วมด้วย (alopecia universalis) เช่น บริเวณเครา หนวด ขนคิ้ว และขนตามร่างกาย

ภาพประกอบเคส

โรคผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata) เป็นโรคผมร่วงที่พบบ่อยในทุกช่วงอายุ ผู้ป่วยมักมีอาการผมร่วงเฉพาะที่ บริเวณที่ผมร่วงมีลักษณะกลม หรือรี ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมากคือ ผมร่วงหมดทั้งศีรษะ (alopecia totalis) และมีขนบริเวณอื่นของร่างกายร่วงจนหมดร่วมด้วย (alopecia universalis) เช่น บริเวณเครา หนวด ขนคิ้ว และขนตามร่างกาย

ในผู้ป่วยบางรายที่มีผมร่วงไม่มาก อาการจะหายได้เองแต่อาจใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี ซึ่งต่างจากในผู้ป่วยที่ผมร่วงมากมักจะไม่หายเอง โรคนี้อาจมีอาการเป็นๆ หายๆ ได้ ซึ่งการเป็นซ้ำอาจเกิดขึ้นเองหรืออาจเกิดจากการที่ร่างกายได้รับการกระตุ้นจากภาวะการเจ็บป่วยอื่นๆ หรือภาวะเครียดจากร่างกายและจิตใจ

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการอื่นนอกเหนือจากผมร่วง อย่างไรก็ตามบางรายอาจมีอาการเจ็บ หรือรู้สึกผิดปกติที่บริเวณหย่อมผมร่วง ผมอาจมีสีขาวเนื่องจากอาการของโรคมีผลต่อเซลล์ที่สร้างสีของผม อาจมีลักษณะเป็นหลุมเล็กๆ ตื้นๆ ที่บริเวณผิวเล็บ (pitting nail)

สาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อม
โรคผมร่วงเป็นหย่อมนี้เกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อรากผมตนเอง (autoimmunity) ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดได้อย่างไร โรคนี้อาจพบร่วมกับโรคอื่นได้ ที่พบบ่อยได้แก่ โรคภูมิแพ้ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ทางจมูก หรือโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง โรคไทรอยด์ และโรคด่างขาว โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

การวินิจฉัยโรค
สามารถวินิจฉัยได้จากอาการทางคลินิก มีเพียงบางรายที่อาจต้องทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัย

วิธีการรักษามีหลายวิธี เช่น

  1. การฉีดยาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีหย่อมผมร่วงไม่กว้างมาก ซึ่งเป็นการรักษาที่ให้ผลดี
  2. การทายาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีผมร่วงเล็กน้อยจนถึงผมร่วงมาก ควรใช้ยาที่เป็นรูปแบบน้ำ หรือโลชั่นเนื่องจากความสะดวกในการใช้
  3. การใช้ยารับประทาน มียาหลายชนิดให้เลือกใช้ ยาบางชนิดอาจใช้ได้ผลแต่พบว่ามีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูงมีผลข้างเคียงมาก

ทั้งนี้การรักษาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่หนังศีรษะมีผื่นบริเวณอื่นของร่างกาย ขนดก เป็นรอยขาวหรือรอยดำที่หนังศีรษะบริเวณที่ทายา หรือยาบางชนิดมีผลข้างเคียงมาก เช่นทำให้ผิวหนังบางเป็นรอยแดง

ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://bit.ly/3Lzei5S


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท