Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ท้อง 3 เดือน กับการเปลี่ยนแปลงของคุณแม่และทารกในครรภ์


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

14-05-2022 15:21

เมื่อคุณแม่มือใหม่ตั้งครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 3 หรือ 12 สัปดาห์ จะเป็นช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะเริ่มมีสุขภาพร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลง รวมถึงพัฒนาการของทารกในครรภ์ที่อาจเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงนี้ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่คุณแม่จะต้องใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งตนเองและทารกน้อยในครรภ์อีกด้วย

ภาพประกอบเคส

เมื่อคุณแม่มือใหม่ตั้งครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 3 หรือ 12 สัปดาห์ จะเป็นช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะเริ่มมีสุขภาพร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลง รวมถึงพัฒนาการของทารกในครรภ์ที่อาจเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงนี้ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่คุณแม่จะต้องใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งตนเองและทารกน้อยในครรภ์อีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อตั้งครรภ์ 3 เดือน

ในช่วงนี้ท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มขยายใหญ่จนเห็นชัดมากขึ้น และมีอาการแพ้ท้องหรืออ่อนเพลียน้อยลง เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเริ่มคงที่ ความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในช่วงการตั้งครรภ์เดือนที่ 3 ได้แก่

  • น้ำหนักขึ้น น้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มจากเดิมประมาณ 0.6-2.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการตั้งครรภ์ แต่หากคุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากเกินไป อาจเสี่ยงต่ออันตรายระหว่างการตั้งครรภ์ได้ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์
  • หน้าท้องเริ่มขยาย อาจส่งผลให้เกิดรอยแตกลายในบริเวณหน้าท้อง คุณแม่อาจใช้โลชั่นหรือครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัย และปรึกษาแพทย์ก่อนการเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง
  • ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ อาจมีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนและความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะขาดน้ำ นอนไม่หลับ หรือเกิดความเครียด คุณแม่อาจป้องกันได้ด้วยการรับประทานของว่างและดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • มีตกขาวมากขึ้น เพื่อช่วยป้องกันช่องคลอดจากการติดเชื้อต่าง ๆ แต่หากพบว่ามีสีผิดปกติ เช่น สีเหลือง สีเขียว สีชมพู หรือสีน้ำตาล ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือการคลอดก่อนกำหนด
  • เลือดออกกะปริบกะปรอย อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่ร้ายแรงได้ หากมีอาการปวดเกร็งหน้าท้องร่วมด้วย ควรรีบแจ้งแพทย์เพื่อความปลอดภัย
  • สภาพผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดฝ้าบนใบหน้า ซึ่งไม่เป็นอันตราย และจะค่อย ๆ หายไปหลังจากการคลอดบุตร
  • เต้านมเกิดการเปลี่ยนแปลง ลานหัวนมมีสีเข้มขึ้น และอาจมีอาการคัดเต้านมไปจนถึงช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์

ความเปลี่ยนแปลงของทารก

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์เดือนที่ 3 ทารกอาจเริ่มมีการตอบสนองที่ซับซ้อนกว่าเดิม เช่น การดูด หรือเริ่มขยับตัวเล็กน้อย ซึ่งคุณแม่อาจไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวดังกล่าวจนกว่าจะเข้าสู่ช่วงเดือนที่ 4 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ทารกจะมีพัฒนาการของอวัยวะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า เล็บ และดวงตา อีกทั้งไตของทารกจะเริ่มผลิตปัสสาวะเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย แต่ยังไม่สามารถระบุเพศได้อย่างชัดเจนในช่วงนี้

ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ คุณแม่จึงควรดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เช่น เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานวิตามินเสริม ฝึกกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอด การบำรุงผิวพรรณ และสิ่งที่ควรระมัดระวังคือ ภาวะแท้ง ซึ่งเสี่ยงเกิดขึ้นได้สูง คุณแม่ควรสังเกตอาการต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติควรไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยด่วนที่สุด เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://bit.ly/3kcupdO


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท