Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เมื่อสูงวัย อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลง


หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

14-05-2022 13:50

เรียนรู้เข้าใจวัยสูงอายุ

ภาพประกอบเคส

  • ผิวหนัง ผิวหนังจะแห้ง บางลง เหี่ยวย่น และหลุดลอกได้ง่าย ซึ่งเกิดจากไขมันใต้ผิวหนังลดลง เกิดอาการคันตามร่างกาย หนาวง่าย และเกิดรอยฟกซ้ำหรือเกิดแผลได้ง่าย

  • ผม จะมีสีขาวหรือเรียกว่า ผมหงอก เกิดจากรากผมไม่สร้างเม็ดสี ผมจะบางลง และหลุดร่วงง่าย ดังนั้นควรให้ผู้สูงอายุใช้แชมพูชนิดอ่อน เช่น แชมพูสำหรับเด็ก ตัดผมสั้นอยู่เสมอเพื่อดูแลและทำความสะอาดได้ง่าย อาจใช้มือนวดศีรษะเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด

  • ริมฝีปาก ผู้สูงอายุจะมีริมฝีปากแห้งและลอกแตกง่าย ควรใช้ลิปสติกมันทาเพื่อให้ปากชุ่มชื้น และดูแลช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย

  • ฟัน ฟันหลุดหรือหักง่าย บดเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานหนัก ดังนั้นอาหารที่ควรจัดให้ผู้สูงอายุควรเป็นอาหารอ่อน หั่นเป็นชิ้นเล็กย่อยง่ายและมีประโยชน์ เช่น ปลา ไข่ เต้าหู้ ผักต้ม เป็นต้น และควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุกๆ 6 เดือน หรือปีละ 1 ครั้ง

  • ลิ้น การรับรสหรือรสชาติอาหารลดลง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา ดังนั้นเราควรช่วยดูแลไม่ให้ผู้สูงอายุปรุงอาหารด้วยน้ำตาล น้ำปลามากเกินไป และควรดูแลทำความสะอาดลิ้นด้วยแปรงที่นุ่ม เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคภายในช่องปาก

  • จมูก การได้กลิ่นต่างๆ ลดลง ไม่สามารถแยกกลิ่นที่คุ้นเคยได้ บางครั้งอาจไม่ได้กลิ่นอาหารที่เริ่มบูดเน่า ผู้สูงอายุอาจรับประทานเข้าไปทำให้ท้องเสียได้ ควรดูแลให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารสดใหม่เสมอ ไม่ควรให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารที่ค้างคืนไว้นาน

  • สายตา ประสาทสัมผัสในการมองเห็นลดลง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน หรือที่ที่มีแสงสว่างน้อย เลนส์ตาแข็งขึ้น บางรายมีสายตายาว มองในระยะใกล้ไม่ชัดเจน ลานสายตาแคบ การแยกสีส้ม แดง เหลือง ได้ดีกว่าสีน้ำเงิน ม่วง เขียว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ผู้สูงอายุควรตรวจสายตาปีละ 1 ครั้ง รับประทานอาหารที่บำรุงสายตา เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า เป็นต้น

  • หู ประสาทการรับเสียงเสื่อมลง มีอาการหูตึง ได้ยินระดับเสียงต่ำชัดกว่าระดับเสียงสูง ดังนั้น การใช้เสียงพูดคุยกับผู้สูงอายุควรพูดใกล้ๆ ไม่ใช้เสียงดัง ไม่ควรตะโกน แต่ควรพูดด้วยเสียงทุ้ม พูดช้าๆ และชัดเจน และควรดูแลไม่ให้ผู้สูงอายุใช้ของแหลมแคะหูเป็นอันขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อเยื่อหูได้

  • กระดูกและกล้ามเนื้อ จำนวนและเส้นใย รวมไปถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง กล้ามเนื้อลีบเล็ก ไม่ค่อยมีแรง เดินช้าและเคลื่อนไหวได้ช้าลง แคลเซียมสลายออกจากกระดูกมากขึ้น ทำให้กระดูกเปราะและหักง่าย หมอนรองกระดูกบางลง ทำให้ผู้สูงอายุหลังค่อม น้ำในข้อกระดูกต่างๆลดลง ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อไม่สะดวก พบได้มากคือ ข้อเข่าเสื่อม ดังนั้น ผู้สูงอายุควรเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อเสริมสร้างให้กระดูกแข็งแรง และเฝ้าระวังอุบัติเหตุจากการหกล้มอย่างใกล้ชิด

ที่มา : เรียนรู้เข้าใจวัยสูงอายุ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในเจตกรุงเทพมหานคร
https://bit.ly/38exOGo


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท