มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Malignant Melanoma)
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
14-05-2022 13:47
มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา พบได้ไม่บ่อย แต่มีความรุนแรง และยังพบบ่อยมากขึ้นในประชากรไทยโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองและบริเวณอื่นๆของร่างกายได้
จากกรณีที่มีข่าวคลิปโอวีดีเผยแพร่ภาพเล็บมีเส้นหนา ๆ สีดำ หรือสีน้ำตาลคล้ายกระหรือรอยฟกช้ำปรากฏขึ้นในแนวตั้งบริเวณหน้าเล็บนั้น เข้าได้กับลักษณะที่เรียกว่า longitudinal melanonychia โดยบางครั้งอาจมาด้วยลักษณะเล็บเป็นเส้นขีด หรือปื้นสีน้ำตาลตามแนวยาวของเล็บจากโคนจนถึงส่วนปลายสุดของเล็บ มีสาเหตุมาจากการกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีให้ทำงานผิดปกติเช่น การทำให้เกิดการได้รับบาดเจ็บบริเวณเล็บ ยาบางชนิด เช่น zidovudine ยาเคมีบำบัด หรือโรคบางชนิด เป็นต้น รวมถึงอาจพบได้เป็นปกติในคนที่มีผิวสีคล้ำอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามบางครั้งอาการดังกล่าวอาจเป็นอาการแสดงของมะเร็งผิวหนังได้เช่นเดียวกัน
มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา พบได้ไม่บ่อย แต่มีความรุนแรง และยังพบบ่อยมากขึ้นในประชากรไทยโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองและบริเวณอื่นๆของร่างกายได้
ดังนั้นกรณีที่พบเส้นสีน้ำตาลที่เล็บที่มีลักษณะดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด
อาการ
มีลักษณะเป็นจุดน้ำตาลแดงดำ หรือ ขึ้นแดงดำ หรือ บางรายเริ่มจากการเป็นไฝซึ่งอาจมิได้หลายลักษณะ เกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า เล็บ โคนเล็บ มีเส้นสีน้ำตาล หรือดำบริเวณเล็บที่มีขอบเขตไม่ชัดเจน สีไม่สม่ำเสมอ มีขนาดใหญ่มากกว่าหรือเท่ากับ 3 มิลลิเมตร พบอาการแสดงอื่นๆ นอกจากเส้นสีน้ำตาลที่เล็บร่วมด้วย เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของผิวเล็บ มีเม็ดสีกระจายผิดปกติที่ขอบเล็บ (Hutchinson’s sign) มีแผล มีก้อน หรือเลือดออกง่ายเป็นต้น โดยเฉพาะในคนที่เริ่มมีอาการครั้งแรกในวัยกลางคน หรือในวัยสูงอายุ ร่วมกับมีประวัติครอบครัวของการเป็นมะเร็งชนิดนี้มาก่อน ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งได้
การรักษา
การรักษามีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น หากเป็นในระยะเริ่มต้นสามารถผ่าตัดส่วนที่ผิดปกติออกได้ หากเป็นมากขึ้นอาจทำการผ่าตัดร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด หรือฉายแสง
คำแนะนำ
- ควรสังเกตความผิดปกติของผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า เล็บ โคนเล็บ ของตนเองเป็นประจำ
- บุตรหลานควรสังเกตผิวหนังของผู้ปกครอง หรือ ผู้สูงอายุในบ้านเป็นประจำ เพราะผู้สูงอายุส่วนมากมักมีปัญหาสายตา อาจไม่ทันได้สังเกตตัวเอง
- หากพบไฝหรือ ปื้นขึ้นบริเวณผิวหนัง เป็นระยะเวลานาน หรือ มีลักษณะเปลี่ยนไปควรมาพบแพทย์ทันที
มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา หากตรวจพบเจอในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอันตราย แต่หากพบในระยะหลังหรือ ขณะที่ลุกลามเป็นแผลแล้ว มีโอกาสเสียชีวิตได้
ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
https://bit.ly/3JpBdPt