การใช้ยาฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ
หมวดหมู่หลัก: LGBTQ
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
08-03-2022 11:00
การใช้ยาฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศเป็นวิธีการรักษาที่คนข้ามเพศนิยมเพื่อเปลี่ยนสรีระให้มีลักษณะแบบเพศที่ตนต้องการ
การใช้ยาฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศเป็นวิธีการรักษาที่คนข้ามเพศนิยมเพื่อเปลี่ยนสรีระให้มีลักษณะแบบเพศที่ตนต้องการ คนจำนวนมากใช้โดยไม่ปรึกษาแพทย์เนื่องจากไม่ตระหนักถึงอันตรายที่ตามมาโดยเฉพาะภัยจากยาคุมกำเนิด กล่าวคือ การใช้ยาฮอร์โมนในปริมาณมากเพื่อเร่งผล หรือใช้ผิดประเภทหรือผิดขนาดอาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด สาเหตุของการเสียชีวิตซึ่งพบมากในกลุ่มคนข้ามเพศ
ร่างกายของคนข้ามเพศแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยาที่เหมาะสมกับแต่ละคนจึงต่างกัน บางคนเหมาะที่จะรับยากิน บางคนได้ยาทา หรืออาจได้ยาแบบเดียวกันแต่ต่างโดส ซึ่งแพทย์จะแนะนำได้ดีที่สุด
การใช้ยาฮอร์โมนเพื่อเปลี่ยนลักษณะภายนอก และการตรวจร่างกายหลังใช้ยา
1. ชายเป็นหญิง
- ใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย ร่วมกับเสริมฮอร์โมนเพศหญิง โดยยาฮอร์โมนที่ใช้ควรเป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศหญิงตามธรรมชาติ
- จะเริ่มที่ยาขนาดต่ำก่อน แล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น
- เจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมนเป็นระยะ เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดโดยมีผลข้างเคียงต่ำที่สุด
- เจาะเลือดเพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาเป็นระยะ
- โดยทั่วไปผลของฮอร์โมนจะเต็มที่ ที่ประมาณ 2-3 ปี
- ในรายที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว จะต้องใช้ฮอร์โมนเพศหญิงระยะยาว เพื่อป้องกันความเสื่อมของร่างกาย เช่น ภาวะกระดูกพรุน
- ความผิดปกติของช่องคลอดใหม่ ควรได้รับการตรวจภายในเพื่อวินิจฉัยและรักษา
2.หญิงเป็นชาย
- ใช้ยาฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันใช้ในรูปแบบยาฉีด หรือยาทา
- จะเริ่มที่ยาขนาดต่ำก่อน แล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการโดยมีผลข้างเคียงต่ำที่สุด
- เจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมน และภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาเป็นระยะ
- โดยทั่วไปผลของฮอร์โมนจะเต็มที่ ที่ประมาณ 2-5ปี
- หากยังมีมดลูกและรังไข่ ต้องตรวจมะเร็งปากมดลูกตามมาตรฐาน (ทุก 1 ปี) และต้องคุมกำเนิดในกรณีที่มีคู่ที่สามารถผลิตอสุจิได้ เนื่องจากยาฮอร์โมนเพศชายไม่สามารถใช้คุมกำเนิดได้
สำคัญที่สุดคือ การใช้ยาฮอร์โมนไม่ใช่วิธีที่จะใช้ได้กับทุกคน บางรายไม่อาจใช้ยาฮอร์โมนได้เลย เช่น คนไข้ที่มีโรคมะเร็งเต้านม กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดหัวใจตีบ คนไข้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ มีความเข้มข้นของเลือดมากเกินไป คนไข้ที่มีค่าตับหรือค่าไขมันผิดปกติ เป็นต้น
ที่มา:
(1) ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำคลินิกสุขภาพเพศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, https://bit.ly/3i6pdaP
(2) ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาลิทยาลัยเชียงใหม่ https://bit.ly/3CLk4Ng