Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome)


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

12-04-2022 14:13

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome)” คือ ภาวะที่การตกไข่เกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ หรือไข่ไม่ตก ส่งผลให้ประจำเดือนผิดปกติร่วมกับการมีฮอร์โมนเพศชายมากเกิน แสดงออกด้วยการมีสิว ผิวมัน ขนดก และการทำอัลตราซาวนด์อาจจะพบลักษณะมีฟองไข่เล็กๆ อยู่รอบๆ รังไข่

ภาพประกอบเคส

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome)” คือ ภาวะที่การตกไข่เกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ หรือไข่ไม่ตก ส่งผลให้ประจำเดือนผิดปกติร่วมกับการมีฮอร์โมนเพศชายมากเกิน แสดงออกด้วยการมีสิว ผิวมัน ขนดก และการทำอัลตราซาวนด์อาจจะพบลักษณะมีฟองไข่เล็กๆ อยู่รอบๆ รังไข่

สาเหตุการเกิดโรค ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเอง และเป็นโรคต่อมไร้ท่อที่พบบ่อยที่สุดในสตรีวัยเจริญพันธุ์

อาการ

  1. มีฮอร์โมนเพศชายมาก เช่น ภาวะมีขนดกแบบเพศชาย หน้ามัน สิวขึ้นง่าย ผมร่วง เป็นต้น
  2. ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง อาการที่พบคือ ระดูมาห่างหรือมีรอบระดูน้อยกว่า 8 ครั้งต่อปี หรือมีช่วงระยะเวลาระหว่างรอบระดูนานกว่า 35 วัน หรืออาจมีระดูออกกะปริบกะปรอยหลังจากที่มีการขาดหายของระดูหลายรอบเดือน
  3. รังไข่ที่มีถุงน้ำเล็กๆ หลายใบ จากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ อัลตร้าซาวด์ ในอุ้งเชิงกรานจะเห็นลักษณะรังไข่จะมีถุงน้ำเล็กๆ หลายใบเรียงตัวล้อมรอบผิวนอกของรังไข่
  4. อาการแสดงความผิดปกติอื่นๆ เช่น ภาวะอ้วนโดยเฉพาะอ้วนลงพุง อาจพบรอยดำตามข้อพับ เช่นต้นคอ ซอกรักแร้ ใต้ราวนม ซึ่งบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

การรักษา

แนวทางการรักษาจะเป็นการรักษาตามสาเหตุ อาทิ หากประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แพทย์ก็จะให้ยาคุมกำเนิด หรือยาปรับให้มีประจำเดือนทุกเดือน ในคนที่มีบุตรยากก็จะให้ยากระตุ้นให้ไข่ตก ส่วนในคนที่ตรวจพบโรคเบาหวาน ก็ต้องรักษาเบาหวานด้วย และในคนไข้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ก็จะต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย

การป้องกัน

เนื่องจากภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบเป็นภาวะที่ไม่ได้มีสาเหตุการเกิดชัดเจนดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่สามารถป้องกันได้ แต่คนไข้ควรได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วถ้าหากมีอาการของประจำเดือนผิดปกติ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาว ดังนั้นหากมีอาการต่างๆ ดังที่กล่าวมา ก็อย่านิ่งนอนใจ โดยเฉพาะเรื่องของประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งหลายคนมักมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากคุณกำลังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และประจำเดือนมาไม่ปกติ ก็ควรมาพบสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพื่อจะได้วางแผนการรักษาได้ทันท่วงที

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1274


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท