4 พฤติกรรมซึมเศร้า ป้องกันสูญเสีย
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
12-04-2022 13:44
โรคซึมเศร้า ถือเป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของมนุษย์ อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อความเครียด สภาพจิตใจ หากดูจากข่าวที่เกิดขึ้นในบ้านเรา และการเก็บสถิติจะได้เห็นว่า มีคนไทยนับไม่น้อยที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว หากร้ายแรงอาจไปถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย
โรคซึมเศร้า ถือเป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของมนุษย์ อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อความเครียด สภาพจิตใจ หากดูจากข่าวที่เกิดขึ้นในบ้านเรา และการเก็บสถิติจะได้เห็นว่า มีคนไทยนับไม่น้อยที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว หากร้ายแรงอาจไปถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย โรคซึมเศร้า ถือเป็นโรคทางด้านจิตเวชที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ
- ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง หรือความผันผวนของระดับฮอร์โมนที่สำคัญ
- ปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า ปัจจัยทางอารมณ์ เป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางอารมณ์ เช่น หากเป็นภาวะซึมเศร้าในวัยเด็ก อาจมีสาเหตุจากความตึงเครียดในครอบครัว เหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง ภาวะซึมเศร้าในโรคประสาทซึ่งอาจพบร่องรอยว่าถูกบีบคั้นอย่างมากในวัยเด็ก แล้วปะทุออกมาในช่วงชีวิตภายหลัง อีกทั้งภาวะซึมเศร้าเพราะความชรา เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวลดน้อยลง มีชีวิตโดดเดี่ยว มีปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือปัญหาที่เรียกว่า ภาวะสะเทือนใจหลังเกษียณ (สูญเสียคุณค่าในตน ไม่มีงาน มีความรู้สึกว่าไร้สมรรถภาพ)
วิธีสังเกตอาการพฤติกรรมซึมเศร้า
- พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิด มักมีความคิดไปในทางลบ (Negative Thinking) ตลอดเวลา มักรู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิด รู้สึกตัวเองไร้ค่าไม่มีความหมาย และคิดว่าไม่มีทางเยียวยาได้ ในที่สุดก็จะคิดทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องความตาย และพยายามที่จะฆ่าตัวตาย
- พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้หรือการทำงาน ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความสนุก งานอดิเรก หรือกิจกรรมที่เพิ่มความสนุก รวมทั้งกิจกรรมทางเพศ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลัง ทำงานช้าลง การงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ ความจำเสื่อม การตัดสินใจแย่ลง
- พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ คือ มักมีความรู้สึกซึมเศร้า กังวลอยู่ตลอดเวลา มักหงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย เป็นต้น
- พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเด่นชัด เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือบางรายหลับมากเกินไป บางคนเบื่ออาหารทำให้น้ำหนักลด บางคนรับประทานอาหารมากทำให้น้ำหนักเพิ่ม มีอาการทางกายรักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น อาการปวดศีรษะ แน่นท้อง ปวดเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นแย่ลง
ที่มา : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
https://bit.ly/3Jc5YIo