Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ภาวะ Headline Stress Disorder - สุขภาพจิตพัง จากการเสพข่าวหดหู่


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: สุขภาพใจ

12-04-2022 11:36

สถานการณ์ตอนนี้ทุกคนต่างช็อกกับข่าวการจากไปอย่างกะทันหันของคุณแตงโม ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ และต่างก็ติดตามข่าวความคืบหน้าการหาสาเหตุการเสียชีวิตกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นข่าวที่น่าหดหู่มาก แต่รู้หรือไม่ว่าการติดตามข่าวที่หดหู่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต จนทำให้เครียดและเกิด ภาวะ Headline Stress Disorder ได้

ภาพประกอบเคส

สถานการณ์ตอนนี้ทุกคนต่างช็อกกับข่าวการจากไปอย่างกะทันหันของคุณแตงโม ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ และต่างก็ติดตามข่าวความคืบหน้าการหาสาเหตุการเสียชีวิตกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นข่าวที่น่าหดหู่มาก แต่รู้หรือไม่ว่าการติดตามข่าวที่หดหู่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต จนทำให้เครียดและเกิด ภาวะ Headline Stress Disorder ได้

ภาวะ Headline Stress Disorder ไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นคำที่ใช้เรียกภาวะเครียดหรือวิตกกังวลมากที่เกิดขึ้นจากการเสพข่าวทางสื่อต่าง ๆ ที่มากเกินไปนั่นเอง ส่งผลเสียจากภาวะ Headline Stress Disorder

การเสพข่าวหดหู่มากไปสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้มากและหลายระบบ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ อาจส่งผลต่อการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า

อาการที่บ่งชี้ว่าอาจเกิดภาวะ Headline stress disorder ได้แก่ ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ

กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะ Headline stress disorder

  • คนที่เหนื่อยล้าทั้งทางจิตใจหรือร่างกายอยู่แล้ว เช่น อาจกำลังเครียดเรื่องงาน ครอบครัว การเรียน การพักผ่อนไม่เพียงพอหรือเจ็บป่วยอยู่นั้น อารมณ์จะอ่อนไหวง่าย เมื่อมาเสพข่าวที่หดหู่ก็จะเครียดได้ง่าย
  • คนที่มีโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าอยู่แล้ว จะถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการเสพข่าวที่หดหู่
  • คนที่ใช้เวลาส่วนมากอยู่ในโลกออนไลน์ มีโอกาสที่จะรับรู้ข่าวทั้งที่จริงและปลอม ทั้งดีและร้ายได้เยอะ
  • คนที่ขาดวิจารณญาณในการเสพข่าว อาจจะเป็นด้วยวัย วุฒิภาวะ หรือบุคลิกภาพ มีแนวโน้มจะเชื่อพาดหัวข่าวในทันทีที่เห็นได้ง่าย

วิธีจัดการความเครียดจากการเสพข่าวหดหู่ด้วยตนเอง

  • จำกัดเวลาในการเสพข่าว และต้องเคร่งครัดกับเวลาที่ตัวเองกำหนดไว้
  • หากเครียดมากอาจงดเสพข่าวหรือใช้สื่อสังคมออนไลน์ไปสักพัก เพื่อให้สมองและจิตใจได้พักจากเรื่องเครียด
  • อย่าเชื่อพาดหัวข่าวที่เห็นในทันที เพราะพาดหัวข่าวมักใช้คำที่กระตุ้นอารมณ์เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ แนะนำให้อ่านรายละเอียดของข่าวด้วย
  • ตรวจสอบข่าวก่อนจะเชื่อ และอ่านข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้ เพราะปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก
  • หากเป็นข่าวด่วนอาจรอสักหน่อยให้มีข้อมูลและความจริงมากขึ้นแล้วค่อยอ่านในรายละเอียดข่าว
  • พยายามมองหาสิ่งที่ดีในข่าวที่อ่านบ้าง ทุกอย่างมีทั้งด้านดีและร้ายเสมอ เลือกอ่านข่าวที่ดีต่อใจ อย่าเสพแต่ข่าวที่หดหู่
  • อย่าเสพข่าวก่อนนอน เพื่อให้สมองได้พักและหลับได้ดี
  • ทำกิจกรรมคลายเครียด ผ่อนคลายบ้าง อย่าเอาแต่ติดตามข่าวทั้งวัน
  • พูดคุยกับคนอื่นบ้าง การหมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งคนเดียวจะยิ่งทำให้จมกับความคิดลบ ๆ ได้ง่าย

ทั้งนี้หากทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้วยังเครียดมากอยู่ ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ chatbot 1323 หรืออาจไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์

ที่มา : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
https://bit.ly/3CD3oIW


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท