Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เลี้ยงลูกอย่างไรให้สุขภาพจิตดี


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: สุขภาพใจ

11-04-2022 16:49

พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกเป็นเด็กดีเติบโตไปด้วยสุขภาพจิตดีที่ เข้ากับคนอื่นได้ เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้อื่น การฝึกเด็กๆ ให้เป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตดีได้ดังนี้

ภาพประกอบเคส

พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกเป็นเด็กดีเติบโตไปด้วยสุขภาพจิตดีที่ เข้ากับคนอื่นได้ เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้อื่น การฝึกเด็กๆ ให้เป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตดีได้ดังนี้

• สอนลูกให้ภูมิใจในตัวเอง
เด็กๆ จะประเมินสิ่งที่ตัวเองทำว่า “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” ตามที่คนรอบกายมีความคิดเห็นในเรื่องนั้นอย่างไร หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่า สิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ดี วิธีเดียวที่จะทำให้เด็กรับรู้ได้ก็คือการ “ชม” โดยระบุถึงพฤติกรรมที่ดีของลูกด้วยความจริงใจ และไม่จำเป็นต้องแถมด้วยการสั่งสอนหรืออธิบายอะไรที่เยิ่นเย้อเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กสับสนได้ และเมื่อลูกทำความผิดที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือเกิดหลังจากที่เคยห้ามเขาไว้แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการตำหนิ ซึ่งสามารถทำด้วยการตำหนิเฉพาะในสิ่งที่เขาทำ หลีกเลี่ยงการตีตราหรือตัดสินที่ตัวบุคคล ตามด้วยการบอกสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้เขาแก้ไขหรือบทลงโทษที่เขาจะได้รับ

• สอนให้ลูกมองโลกในแง่ดี
เป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ลูกเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี การสอนให้ลูกเป็นคนมองโลกในแง่ดี เป็นการพยายามมองหา “แง่มุมบวก” ที่มีอยู่ในเรื่องลบๆ เพื่อให้มีกำลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคโดยไม่ย่อท้อ รวมถึงช่วยให้ลูกได้ “ปรับตัว” หรือ “ทำใจ” กับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย

• สอนลูกให้ปรับตัวเก่ง
การปรับตัวเป็นคุณสมบัติสำคัญของมนุษย์ที่จะช่วยให้พร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากการฝึกให้ลูกมีความอดทนด้วยการเลี้ยงดูแบบ “ไม่ตามใจ” และได้ลองทำกิจกรรมที่หลากหลาย และได้มีโอกาสเอาชนะอุปสรรค เช่น ปีนข้ามรั้วให้สำเร็จ ประดิษฐ์สิ่งของ เกมเขาวงกต เป็นต้น

• สอนลูกให้เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น
เมื่อเด็กๆ ที่ขาดความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น เริ่มฝึกลูกด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้สึก เช่น “แม่เห็นว่าหนูกำลังโกรธมากเลย โกรธอะไรใครบอกแม่หน่อยสิจ๊ะ” และความรู้สึกของผู้อื่น เช่น “หนูลองเดาซิว่าที่หนูไปพูดกับเพื่อนแบบนั้น เขาจะรู้สึกยังไง” รวมไปถึงการสอนให้ลูกได้ช่วยเหลือคนอื่นเล็กๆ น้อยๆ เช่น งานบ้าน หรือการแบ่งของกิน ของเล่น

• สอนลูกให้รักษาสิทธิของตนเอง
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักวิธีการพูดเตือนด้วยความสุภาพ หรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ให้เข้ามาแก้ไขปัญหา เป็นวิธีจัดการได้ดีที่สุดเพราะเป็นทางสายกลางที่จะทำให้ไม่ถูกเอาเปรียบ

• สอนลูกให้มีความรับผิดชอบ
สิ่งพื้นฐานที่สุดคือ “ตัวของเขาเอง” ตั้งแต่การเดิน จับช้อนตักข้าว การอาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว ใส่ถุงเท้ารองเท้าเอง กินข้าวเสร็จก็ต้องเก็บจานด้วยตัวเอง เล่นของเล่นเสร็จก็เก็บให้เข้าที่ ทำการบ้านให้เสร็จทุกวัน

• สอนลูกให้มีระเบียบวินัย
คุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูกถึงกิจกรรมที่เขาต้องทำในแต่ละวัน เรียงลำดับตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน เช่น ตื่นเช้า อาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าวเช้า อ่านหนังสือการ์ตูน เล่นของเล่น กินข้าวกลางวัน เตะบอลกับพ่อ… จนถึงเวลาเข้านอน โดยไม่ต้องกำหนดเวลา เพราะอาจทำให้ลูกเครียดเกินไป

• สอนลูกให้มีความอดทน
สามารถฝึกความอดทนให้ลูกได้ด้วยการไม่ตามใจลูกเกินไป ให้เขารู้จักการรอคอย ถ้าอยากได้ของเล่นใหม่ ก็ให้เขาพยายามทำอะไรดีๆ เช่น ตั้งใจเรียน มีวินัย ทำการบ้านทุกวัน

ที่มา : สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ (กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)
https://bit.ly/3KcpkNQ


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท