ความหลากหลายทางเพศ
หมวดหมู่หลัก: LGBTQ
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
08-03-2022 10:31
ถ้าวันหนึ่งตื่นมาแล้วสิ่งที่บ่งบอกทางเพศหายไปจากตัวเรา เราจะยังคงคิดว่าเราเป็นเพศนั้นอยู่หรือไม่
ถ้าวันหนึ่งตื่นมาแล้วสิ่งที่บ่งบอกทางเพศหายไปจากตัวเรา เราจะยังคงคิดว่าเราเป็นเพศนั้นอยู่หรือไม่
คำว่า “เพศ” ในความหมายอาจแปลได้ว่า การรับรู้ของตัวเราเองว่าคือเพศอะไร โดยวัดจากการแสดงออกและบทบาททางเพศที่แสดงออกมา นอกจากนี้ “เพศ” ยังมีความหมายของความรู้สึกและความพึงพอใจทางเพศซึ่งแสดงออกมาในลักษณะความชอบ ความชอบทางเพศในปัจจุบันนั้นมีอยู่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น คนที่ชอบเพศตรงข้าม (Heterosexual) คนที่ชอบเพศเดียวกัน (Homosexual) คนที่ชอบทั้ง 2 เพศ (Bisexual) คนที่ไม่มีความรู้สึกทางเพศ (Asexual)
ศัพท์ทางการแพทย์เกี่ยวกับการเรียกขานกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไว้ดังนี้
- Gender Variant ความหลากหลายทางเพศ
- Gender Spectrum ความเชื่อมโยงทางเพศ
- Gender Non-conforming คนที่เกิดมามีเพศไม่ถูกกับเพศที่มีมาตั้งแต่แรกเกิด
- LGBTIQ ได้แก่ Lesbian (หญิงรักหญิง) Gay (ชายรักชาย) Bisexual (ชอบทั้งชายทั้งหญิง ที่ยังไม่มีการแปลงเพศ) Transgender (ตุ๊ด ทอม กระเทย ผู้หญิงข้ามเพศ เริ่มทำการเปลี่ยนแปลงทางกายของตัวเอง) Intersex (คนสองเพศ คนที่เกิดมามี 2 เพศ) Questioning queer (คนที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายใด ซึ่งจะพบคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ร่างกายเป็นผู้หญิงมีแฟนเป็นผู้หญิง แต่ไม่ใช่ทอม แม้คนอื่นจะมองว่าเป็นทอม และจะนิยามตัวเองว่าไม่สังกัดฝ่ายใด)
ส่วนคำจำกัดความที่คนทั่วไปมักนิยมใช้เรียกขานกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นคำที่เราเคยได้ยินกันมา เช่น เพศที่สาม เบี่ยงเบนทางเพศ เพศทางเลือก เพศก่ำกึ่ง เพศหลากสี เพศเทยเที่ยวไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคำศัพท์ใหม่ที่มีการเรียกขานกันในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนในสังคมได้รับรู้ถึงการมีตัวตนของกลุ่มคนที่คุณก็รู้ว่าไม่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านนิสัยใจคอหรือพฤติกรรมที่เป็นสิ่งดีงาม
ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน แต่นั่นก็อาจเป็นเพราะสังคมได้เปิดรับและพร้อมเปิดกว้างสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะส่วนตัวผู้เขียนเองเชื่อว่า ความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน ได้รับการเปิดแง้มออกมาอย่างเต็มที่แล้ว เฉกเช่นประตูที่เปิดกว้างสู่สังคม กลุ่มคนเหล่านี้พร้อมแล้วที่จะแสดงตัวตนออกมาให้เห็นว่า เพศที่ฉันเป็น แม้อาจไม่ใช่เพศที่ต้องการตั้งแต่เกิด แต่ก็เป็นเพศที่ฉันให้ความเคารพ เหมือนกับที่ฉันเคารพทุกคนทุกเพศนั่นเอง
ที่มา: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล https://med.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/08312020-1029