สวัสดิการผู้สูงอายุ
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
11-04-2022 16:03
“สังคมสูงวัย” คือ สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่สัดส่วนของอัตราการเกิด และจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง
“สังคมสูงวัย” คือ สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่สัดส่วนของอัตราการเกิด และจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง ความจริงประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ตอนนั้นเรามีผู้สูงอายุ 10.4% และมีการคาดการณ์ว่า สัดส่วนของจำนวนผู้สูงอายุ จะเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ด้วย รัฐบาลจึงได้จัดสิทธิและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ เมื่ออายุครบ 60 ปี เช่น
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แบบขั้นบันได คือ อายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาทต่อเดือน, อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาทต่อเดือน, อายุ 80-89 ปี ได้รับ 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน
- ลดหย่อนภาษี บุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดา สามารถขอลดหย่อนภาษี จำนวน 3 หมื่นบาทต่อผู้สูงอายุ 1 คนต่อปี
- ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของ เช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น
- ลดหย่อนค่าโดยสาร และการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง หมายเหตุ : ผู้สูงอายุต้องแจ้ง และแสดงบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ก่อนซื้อตั๋วโดยสารบริการขนส่งสาธารณะ
- สิทธิทางอาชีพ ภาครัฐโดย กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร จัดบริการ ให้คำปรึกษา แนะนำ และรับสมัครงานสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งจัดอบรมฝึกอาชีพให้กับผู้สูงอายุ
- เสียชีวิต ผู้จัดการศพผู้สูงอายุยากจนนั้น สามารถยื่นขอรับเงินจัดการศพรายละไม่เกิน 3 พันบาท โดยต้องยื่นความประสงค์ที่สำนักงานเขต หรือสำนักงาน อบต. สำนักงานเทศบาลภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันออกใบมรณะบัตร
ทั้งนี้ผู้สูงอายุสามารถสอบถามใช้สิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.dop.go.th/th/benefits/3/765
ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์
https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/31/iid/83858