Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ฮีทสโตรก โรคฮิตช่วงหน้าร้อน


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

30-03-2022 10:38

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ สภาพอากาศเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสป่วยโรคฮีทสโตรก (Heat stroke) ได้

ภาพประกอบเคส

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ สภาพอากาศเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสป่วยโรคฮีทสโตรก (Heat stroke) ได้ ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยมีอาการสำคัญ ได้แก่ ตัวร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดอาการหน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย มึนงง หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป มี 6 กลุ่ม ได้แก่

1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย
2.เด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง
4.ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ โดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอจะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ
6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิต

คำแนะนำสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองช่วงหน้าร้อน

1.สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี
2.ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
3.ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ
4.สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง
5.ควรดื่มน้ำ 2-3 ลิตรต่อวัน เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก
6.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
7.ผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และเป็นเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้หากสงสัยว่ามีอาการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยดื่มน้ำเย็นและเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ให้อยู่ในที่ระบายอากาศที่ดี ถ้ามีอาการรุนแรงหรือหมดสติควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/171753/


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท