ทำไมผู้สูงอายุจึงมักท้องผูก
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
21-03-2022 11:10
อาการท้องผูกในผู้สูงอายุมีสาเหตุมากมาย เช่น เกิดจากการกลั้นอุจจาระบ่อยๆ ทำให้ประสาทลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเสียระบบการทำงานไป เกิดจากความผิดปกติของระบบการบีบตัวของลำไส้ เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆ เสื่อมลง
เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายก็เริ่มเสื่อมประสิทธิภาพลง การทำงานของระบบย่อยอาหารและลำไส้ก็เช่นเดียวกัน ปัญหาท้องผูกเป็นประจำหรือท้องเสียง่ายจึงเป็นกันมากในผู้สูงอายุ ซึ่งจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ตั้งแต่อายุ 60-65 ปีขึ้นไป อาการท้องผูก คือ การขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับอาการอื่นๆ คือ ไม่มีความรู้สึกปวดถ่ายอุจจาระ ถ่ายอุจจาระแข็งและน้อย มีความรู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่สุด มีอาการแน่นท้อง บางครั้งมีอาการปวดท้องน้อย และอาการจะหายไปหลังจากถ่ายอุจจาระแล้ว เมื่อท้องผูกแล้วพยายามจะเบ่งถ่าย ผู้สูงอายุจึงควรระวัง โดยเฉพาะผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ เพราะอาจเกิดอาการหน้ามืด เป็นลม หรือหมดสติได้
อาการท้องผูกในผู้สูงอายุมีสาเหตุมากมาย เช่น เกิดจากการกลั้นอุจจาระบ่อยๆ ทำให้ประสาทลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเสียระบบการทำงานไป เกิดจากความผิดปกติของระบบการบีบตัวของลำไส้ เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆ เสื่อมลง เกิดจากภาวะขาดน้ำ หรือดื่มน้ำน้อย การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ขาดการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย หรือเกิดจากรับประทานยาบางชนิด นอกจากนี้อาการท้องผูกที่เกิดขึ้นยังอาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ ได้ด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคทางต่อมไร้ท่อ โรคของต่อมไทรอยด์ โปแตสเซียมต่ำ มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นในลำไส้ มะเร็งลำไส้ ไตวาย โรคของกล้ามเนื้อเรียบรอบทวารหนักทำงานผิดปกติ ไส้เลื่อน เป็นต้น ทั้งนี้หากมีอาการท้องผูกแล้ว เมื่อถ่ายออกมามีมูกเลือดปนในอุจจาระ น้ำหนักตัวลด ปวดท้องแบบไม่ทราบสาเหตุ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เพราะอาจจะเป็นสัญญาณของมะเร็งลำไส้ได้
เทคนิคคลายท้องผูก
- เมื่อรู้สึกปวดถ่ายไม่ควรอั้นอุจจาระ
- พยายามสร้างนิสัยการถ่ายให้เป็นเวลา โดยเฉพาะในตอนเช้าหลังตื่นนอน ให้ดื่มน้ำสะอาด 1-2 แก้ว เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัว
- รับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ แต่ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาระบบการเคี้ยวและระบบย่อยอาหาร อาจเลือกดื่มน้ำผักปั่นหรือน้ำผลไม้สด ที่ปั่นเนื้อก็ดีเช่นกัน รับประทานข้าวกล้องและธัญพืชต่างๆ มากขึ้น รับประทานลูกพรุนหรือน้ำลูกพรุน เพราะมีเส้นใยอาหารปริมาณสูงช่วยในเรื่องการขับถ่ายดีมาก
- ดื่มน้ำให้มากขึ้นกว่าเดิมในแต่ละวัน ยกเว้นในผู้ป่วยโรคไตหรือโรคหัวใจที่ต้องจำกัดปริมาณของน้ำดื่ม
- ออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินให้มากขึ้น กายบริหารท่าต่างๆ โดยเฉพาะท่าบริหารช่วงเอว เพื่อให้ระบบย่อยอาหารและลำไส้ได้มีความเคลื่อนไหวตื่นตัวขึ้น การบีบนวดช่วงเอวเบาๆ ก็อาจช่วยได้บ้าง
- ในกรณีที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องพึ่งพายาระบาย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
ยาบรรเทาอาการท้องผูกมีหลายชนิด ทั้งยากินและยาสวนทวาร ซึ่งในผู้สูงอายุควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนการใช้ยา แต่ในผู้สูงอายุหลายาย เพียงแค่ปรับพฤติกรรมตามคำแนะนำข้างต้น อาการท้องผูกก็จะบรรเทาลงไปมากแล้ว
ที่มา : haijai
https://www.haijai.com/4274/