Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

หกล้มในวัยชรา


หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

21-03-2022 10:53

การหกล้มในผู้สูงอายุอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่กระดูกพรุนแม้จะไม่รุนแรงก็อาจทำให้กระดูกหัก ผู้ที่อายุมากกว่า 80 ปี กระดูกต้นขาหักมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งเป็นผลจากทั้งกระดูกที่หักโดยตรง

ภาพประกอบเคส

การหกล้มในผู้สูงอายุอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่กระดูกพรุนแม้จะไม่รุนแรงก็อาจทำให้กระดูกหัก ผู้ที่อายุมากกว่า 80 ปี กระดูกต้นขาหักมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งเป็นผลจากทั้งกระดูกที่หักโดยตรง เช่น เสียเลือดมาก หรือศีรษะกระแทกพื้นหรือของแข็งๆ และจากภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในปอดจากการนอนติดเตียง หรือหกล้มซ้ำจนเกิดอุบัติเหตุรุนแรง รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ทั้งอายุที่มากขึ้น ผู้ชายมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง และการป่วยเป็นโรคเรื้อรัง

ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปกว่าร้อยละ 20-30 มีความหนาแน่นของกระดูกลดลงอย่างรวดเร็วจนเกิดโรคกระดูกพรุน เมื่อฮอร์โมนที่เคยช่วยรักษามวลกระดูกมีการสร้างและทำงานลดลง อัตราการสร้างกระดูกจะไม่ทันอัตราการสลายกระดูก กระดูกค่อยๆ บางลงจนเกิดการแตกหักของเส้นใยกระดูกในที่สุด

ทางออก คือ ต้องลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้มวลกระดูกลดลงเร็ว เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ การรักษาหรือควบคุมโรคประจำตัวที่ทำลายกระดูก อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และความเครียด อีกทั้งควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อปล่อยสารเคมีไปกระตุ้นการสะสมแคลเซียมที่กระดูกและลดการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก อีกทั้งแรงที่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อและแรงกระทบกระแทกระหว่างการออกกำลังกาย ยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานเพิ่มขึ้นด้วย

การหกล้มของผู้สูงอายุยังเกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณแผ่นหลังและขา ตลอดจนข้อต่อต่างๆ โดยตรง ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุทรงตัวได้ดียิ่งขี้น การรับประทานวิตามินดีจะช่วยกระตุ้นลำไส้ให้ดูดซึมแคลเซียมจากอาหารเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้เซลล์กระดูกทำงานได้เป็นปกติ อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน นอกจากนี้ความเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณข้อในผู้สูงอายุก็ส่งผลเสียต่อการทรงตัวเช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณข้อเข่าและข้อเท้า

ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุจึงต้องดูแลทุกส่วนของร่างกายแบบองค์รวมด้วยความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด หากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเกิดความผิดปกติ ย่อมส่งผลต่อส่วนอื่นๆ เป็นลูกโซ่ด้วย และในอนาคตอันใกล้จะมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและมีความสุข

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
http://bit.ly/2ncrN3v


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท