Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

คุณแม่ท้องกับภาวะน้ำคร่ำน้อย อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

21-03-2022 08:40

น้ำคร่ำ คือน้ำใสๆ ที่อยู่ล้อมรอบทารกในครรภ์ ส่วนประกอบหลักๆ ของน้ำคร่ำจะเป็นน้ำและจะมีสารต่างๆ รวมถึงเซลล์ของทารกปะปนออกมาด้วยอีกเล็กน้อย หน้าที่หลักของน้ำคร่ำก็คือ ช่วยป้องกันทารกจากการกระทบกระเทือนช่วยให้ทารกเคลื่อนไหวร่างกายในขณะที่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่ได้สะดวก

ภาพประกอบเคส

น้ำคร่ำ คือน้ำใสๆ ที่อยู่ล้อมรอบทารกในครรภ์ ส่วนประกอบหลักๆ ของน้ำคร่ำจะเป็นน้ำและจะมีสารต่างๆ รวมถึงเซลล์ของทารกปะปนออกมาด้วยอีกเล็กน้อย หน้าที่หลักของน้ำคร่ำก็คือ ช่วยป้องกันทารกจากการกระทบกระเทือนช่วยให้ทารกเคลื่อนไหวร่างกายในขณะที่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่ได้สะดวก นอกจากนั้นน้ำคร่ำยังช่วยรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสมให้กับทารกในขณะที่อยู่ในครรภ์ทารกในครรภ์จะหายใจและดื่มกินน้ำคร่ำเข้าไปเพื่อช่วยในการพัฒนาของร่างกายและอวัยวะต่างๆ จึงเห็นได้ว่า น้ำคร่ำมีความสำคัญต่อทารกมากทีเดียว แต่ถ้าคุณแม่เกิดภาวะที่เรียกว่า น้ำคร่ำน้อย ขึ้นมาจะมีอันตรายอย่างไรกับการตั้งครรภ์บ้าง บทความนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกัน

ภาวะน้ำคร่ำน้อย คือ ภาวะที่คุณแม่ท้องมีปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ ซึ่งเราจะทราบได้จากการตรวจอัลตราซาวด์ดูค่า AFI (Amniotic fluid index : ค่าคำนวณความลึกของถุงน้ำคร่ำ) ระดับของค่า AFI ปกติจะอยู่ที่ 5 – 25 ซม. แต่ถ้าตรวจอัลตราซาวด์ดูค่า AFI จากคุณแม่แล้วได้น้อยกว่า 5 ซม. ก็จะถือว่าคุณแม่คนนั้นมีภาวะน้ำคร่ำน้อย

สาเหตุที่ทำให้ภาวะน้ำคร่ำน้อย

เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อของมารดาขณะตั้งครรภ์ ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตก ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ จากความพิการของทารกซึ่งเป็นความผิดปกติบางประการ เช่น ทารกไม่มีไต ทำให้ไม่สามารถผลิตปัสสาวะออกมาได้ จึงทำให้ น้ำคร่ำน้อย หรืออาจจะเกิดจากการรับประทานยาบางชนิดของคุณแม่ที่ทำให้ทารกปัสสาวะน้อยลงก็มีผลทำให้ น้ำคร่ำน้อย ได้เหมือนกัน

หากคุณแม่ท้องเคยมีประวัติน้ำเดินหรือของเหลวไหลออกทางช่องคลอดก่อนกำหนดมาก่อนอันนี้ก็พอจะสังเกตได้บ้าง จุดที่พอจะสังเกตได้ก็คือสังเกตการโตขึ้นของครรภ์ ถ้าครรภ์ไม่โตขึ้นก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจมีภาวะน้ำคร่ำน้อย หรือคลำแล้วรู้สึกว่าสัมผัสถึงตัวทารกได้ชัดเจนมากก็ให้คิดไว้ก่อนเลยว่าเราอาจมีครรภ์ผิดปกติได้ ก็ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจจะดีกว่า

ภาวะน้ำคร่ำน้อยส่งผลอย่างไรต่อทารกในครรภ์

หากคุณแม่มีน้ำคร่ำน้อย แน่นอนเลยว่าจะต้องมีผลกระทบต่อเด็กที่อยู่ในท้อง ซึ่งจะส่งผลตั้งแต่ทารกจะเคลื่อนไหวในท้องได้ลำบาก และอาจมีการกดทับกับอวัยวะบางส่วน จนทำให้การเจริญเติบโตของทารกทำได้ไม่เต็มที่ อาจมีภาวะปอดไม่ขยายหากเริ่มเป็นตั้งแต่อายุครรภ์น้อยหรือเกิดการติดเชื้อต่างๆ ได้หากเกิดจากน้ำเดิน และยิ่งหากคุณแม่มีน้ำคร่ำน้อยมากๆ เมื่อมดลูกหดรัดตัว สายสะดืออาจมีการถูกกดทับ ทารกก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตในครรภ์

ภาวะน้ำคร่ำน้อยรักษาได้อย่างไร

การรักษาภาวะน้ำคร่ำน้อยนั้น หมอจะพิจารณาจากสาเหตุและอายุครรภ์ของทารกเป็นหลัก คือหมอจะต้องดูก่อนว่าสาเหตุที่ทำให้คุณแม่มีน้ำคร่ำน้อยมาจากอะไร และตอนนั้นคุณแม่มีอายุครรภ์อยู่ในช่วงไหนแล้ว เช่นถ้าสาเหตุมาจากยาที่คุณแม่รับประทานก็จะให้คุณแม่หยุดยาทันที เมื่อหยุดยาแล้วน้ำคร่ำก็จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติ ถ้าคุณแม่ใกล้คลอดแล้วมีน้ำคร่ำน้อย สายสะดือมีการกดทับ เราก็อาจใช้วิธีการฉีดน้ำเกลือเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ หรือพิจารณาผ่าตัดคลอดแล้วแต่กรณี แต่ถ้าหากสาเหตุเกิดขึ้นจากความผิดปกติของทารกเอง ก็ต้องบอกว่ายังไม่มีวิธีแก้ไขที่ดีในกรณีนี้ อาจจะต้องมีเยียวยารักษากันหลังคลอดต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้วิธีไหนรักษาก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้น้ำคร่ำน้อยเป็นหลัก แนวทางป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำคร่ำน้อย

อย่างที่เรียนให้ทราบน้ำคร่ำน้อย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น จึงไม่มีแนวทางเฉพาะเจาะจงในการป้องกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก บางสาเหตุป้องกันได้แต่บางสาเหตุก็ไม่สามารถป้องกันได้ แต่คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ ควรมีการปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ และเมื่อคุณผู้หญิงรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็ควรฝากท้องและมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงสูงต่างๆ ในการตั้งครรภ์ลงได้

ที่มา : โรงพยาบาลสมิติเวช
https://bit.ly/2Ka3hZK


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท