Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

การปฏิบัติตนระหว่างตั้งครรภ์


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

20-03-2022 10:22

ผู้หญิงเมื่อตั้งครรภ์จะมีความรู้สึกหลากหลายทั้งตื่นเต้น ดีใจ หรือแม้กระทั่งกังวล ดังนั้นสิ่งแรกที่ว่าที่คุณแม่ควรทำ คือ การปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ เพื่อที่คุณหมอจะได้ให้การรักษา และคำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมในระหว่างการตั้งครรภ์

ภาพประกอบเคส

ผู้หญิงเมื่อตั้งครรภ์จะมีความรู้สึกหลากหลายทั้งตื่นเต้น ดีใจ หรือแม้กระทั่งกังวล ดังนั้นสิ่งแรกที่ว่าที่คุณแม่ควรทำ คือ การปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ เพื่อที่คุณหมอจะได้ให้การรักษา และคำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมในระหว่างการตั้งครรภ์

การปฏิบัติตนระหว่างตั้งครรภ์ แบ่งเป็นไตรมาส ดังนี้

ไตรมาสแรก

การเปลี่ยนแปลงต่างๆของร่างกายจะเริ่มปรากฏขึ้น คุณแม่จะรู้สึกอยากอาหาร อาจมีเลือดออกตามไรฟันเวลาแปรงฟัน มีอาการท้องผูกมากขึ้น ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำ และผักผลไม้ให้มากๆ เพื่อลดอาการท้องผูก หญิงตั้งครรภ์ในช่วงนี้จะมีอาการแพ้ท้อง ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 2 เดือน จึงต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้มีอาการแพ้ท้อง นอกจากนี้การดื่มน้ำขิงยังช่วยลดอาการดังกล่าวได้อีกด้วย หากอาการยังไม่ทุเลา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาบรรเทาอาการแพ้ท้องเพิ่มเติม สำหรับยาบำรุงครรภ์ที่สำคัญในช่วง 3 เดือนแรก คือ วิตามินบี 9 หรือ โฟลิค เพื่อลดโอกาสที่ทารกในครรภ์จะมีความผิดปกติของระบบประสาทนั่นเอง อาการที่ต้องสังเกตในช่วงอายุครรภ์นี้ คือ เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด หากคุณมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ไตรมาสที่สอง

อาการแพ้ท้องมักจะดีขึ้น รับประทานอาหารได้มากขึ้น และน้ำหนักตัวจะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉลี่ยน้ำหนักควรเพิ่มประมาณ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์บางรายอาจมีอาการปวดหน่วงๆบริเวณท้องน้อยได้ เป็นผลจากการที่มดลูกเริ่มขยายขนาดเมื่ออายุครรภ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาการดังกล่าวจะยังคงเกิดได้ตลอดการตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 5 เดือน คุณจะเริ่มรับรู้ได้ถึงการขยับตัวของลูกน้อยของคุณซึ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตามอายุครรภ์ สำหรับยาบำรุงครรภ์ที่สำคัญในช่วงไตรมาสสอง คือ ยาบำรุงเลือด เนื่องจากจำเป็นต่อการเพิ่มปริมาณเลือดในหญิงตั้งครรภ์ การสร้างรก รวมถึงการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ และแคลเซียม ซึ่งจำเป็นต่อการเสริมสร้างกระดูกและการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ อาการที่ต้องสังเกตในช่วงอายุครรภ์นี้ คือ เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด น้ำเดิน หรือท้องแข็งสม่ำเสมอทุก 10 นาที หากคุณมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าคุณอาจคลอดก่อนกำหนดก็เป็นได้

ไตรมาสสุดท้าย

หญิงตั้งครรภ์จะรับรู้ถึงการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์มากยิ่งขึ้น โดยทั่วไปแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์นับจำนวนครั้งของลูกดิ้นตั้งแต่อายุครรภ์ 7 เดือนเป็นต้นไป ซึ่งในแต่ละวันลูกน้อยควรดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้ง อาการที่พบได้บ่อยในช่วงอายุครรภ์นี้ คือ - อาการปวดเมื่อยบริเวณบั้นเอวหรือท้องน้อย อันเป็นผลจากการที่สรีระของหญิงตั้งครรภ์ต้องรองรับมดลูกที่ลูกน้อยอาศัยอยู่ที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น อาการดังกล่าวมักสัมพันธ์กับเวลาที่คุณอยู่ท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ ฉะนั้นคุณอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนท่าทางอยู่เสมอเพื่อลดอาการดังกล่าว - อาการท้องแข็ง ท้องจะมีลักษณะแข็งตึงทั่วทั้งท้องตามขนาดของมดลูก เกิดจากการที่มดลูกมีการหดรัดตัวเมื่ออายุครรภ์เพิ่มมากขึ้นและมักเกิดห่างกว่าทุก 10 นาที ในช่วงนี้น้ำหนักของหญิงตั้งครรภ์ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเช่นเดียวกับในช่วงไตรมาสที่สอง ยาบำรุงครรภ์ที่จำเป็นในช่วงไตรมาสนี้ คือ ยาบำรุงเลือด และแคลเซียม

การออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์ สามารถทำได้และแนะนำในหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีข้อห้าม เช่น เลือดออกจากช่องคลอด น้ำเดิน เป็นต้น ทั้งนี้หากคุณไม่แน่ใจว่ามีข้อห้ามหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง สำหรับประโยชน์ของการออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์ พบว่าช่วยลดการเกิดภาวะเบาหวานและความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การผ่าตัดคลอด เป็นต้น ตัวอย่างชนิดของการออกกำลังกายที่ปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ การเดิน การปั่นจักรยานอยู่กับที่ การยืดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ที่มา : ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=175


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท