Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

เมื่อลูกเป็นโรคซึมเศร้า


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

20-03-2022 08:49

โรคซึมเศร้า ถือเป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์ สำหรับเด็กและวัยรุ่น อาการของโรคซึมเศร้าอาจไม่ได้แสดงออกมาชัดเจนในรูปแบบการเศร้า หรือ ร้องไห้ แต่อาจมีอาการ หงุดหงิดก้าวร้าว เก็บตัว มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จนก่อให้เกิดปัญหาต่อชีวิตประจำวันหรือการเรียน

ภาพประกอบเคส

โรคซึมเศร้า ถือเป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์ สำหรับเด็กและวัยรุ่น อาการของโรคซึมเศร้าอาจไม่ได้แสดงออกมาชัดเจนในรูปแบบการเศร้า หรือ ร้องไห้ แต่อาจมีอาการ หงุดหงิดก้าวร้าว เก็บตัว มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จนก่อให้เกิดปัญหาต่อชีวิตประจำวันหรือการเรียน เช่น การเล่นเกมมากขึ้น หรือ ติด social มากขึ้น เป็นต้น ในเด็กที่พัฒนาการการสื่อสารหรือการรับรู้อารมณ์ตนเองยังไม่ดีนัก อาจมาด้วยอาการ เจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง หรือมี พฤติกรรมถดถอยกลับไปสู่วัยเด็กเล็ก เช่น พฤติกรรมงอแง อาละวาด หรือ ไม่อยากไปโรงเรียน เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นโรคซึมเศร้า

  1. พันธุกรรม เด็กที่พ่อแม่มีภาวะซึมเศร้า จะมีอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าได้สูงกว่าเด็กทั่วไป
  2. สารเคมีในสมอง ผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ ทำให้ส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ ร่างกาย และจิตใจ
  3. ปัจจัยแวดล้อมภายนอก หรือ ปัญหาทางจิตสังคม เช่น ปัญหาการเลี้ยงดู ความรุนแรงในครอบครัว การเลี้ยงดู การถูกกลั่นแกล้ง
  4. มุมมองต่อตนเอง เด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ และเด็กที่มีความวิตกกังวลสูง จะมีอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าได้สูงกว่าเด็กทั่วไป ทำให้เด็กหนีปัญหา โทษตัวเองซ้ำๆ และมองโลกในแง่ร้าย
  5. ปัจจัยโรคทางกายอื่นๆ โรคทางกายหรือยาบางชนิด ส่งผลต่อฮอร์โมน และสารเคมีในสมองทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้เด็กที่มีภาวะโรคเรื้อรัง ไม่สามารถใช้ชีวิตตามวัยได้ตามปกติก็มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าได้ด้วย

การดูแลและการรักษา เมื่อสงสัยว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้า

  1. พ่อแม่จำเป็นต้องทำจิตใจตนเองให้สงบและพร้อมต่อการรับฟังเรื่องต่างๆของลูก
  2. หาบรรยากาศที่สงบ ผ่อนคลาย พูดคุยถึงอาการที่พ่อแม่สังเกตเห็นและสะท้อนให้ลูกเข้าใจถึงความห่วงใย ความพร้อมที่จะเข้าใจและช่วยเหลือของพ่อแม่
  3. เปิดโอกาสให้เด็กพูดและระบายความรู้สึกโดยไม่แย้งหรือรีบสอน
  4. หากพบว่าเด็กมีภาวะซึมเศร้าให้ชักชวนลูกมารับการรักษากับจิตแพทย์ และหากพบความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้พ่อแม่คอยเฝ้าระวังพฤติกรรมของลูก เก็บของมีคม สารเคมี ยาหรืออุปกรณ์ต่างๆที่เด็กสามารถใช้ในการทำร้ายตนเอง
  5. และไม่ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง และรีบพามาพบแพทย์

พ่อแม่จะทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นโรคซึมเศร้า

  1. ยอมรับภาวะที่ลูกเป็น และไม่โทษอดีตที่ผ่านมา
  2. รับฟังปัญหาของลูกอย่างเข้าใจ เปิดใจ และอยู่เป็นเพื่อนในยามที่ลูกไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ตนเองได้ ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพัง
  3. กระตุ้น และสนับสนุนให้ลูกทำกิจวัตรประวันได้ตามปกติมากที่สุด และอาจชักชวนให้ผู้ป่วยออกไปข้างนอก ลดการเก็บตัว และออกกำลังกายซึ่งจะช่วยให้การรักษาดีขึ้น
  4. คอยดูแลเรื่องการกินยาของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ
  5. ประเมินภาวการณ์ฆ่าตัวตาย จากการสังเกต และสอบถามเมื่อสงสัย หากมีความเสี่ยงให้ปฏิบัติดังข้อที่กล่าวไปแล้ว
  6. ดูแลสุขภาพกาย และใจของตนเองและคนในครอบครัวคนอื่นๆให้เป็นปกติ เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องใช้พลังกายและใจสูง ทุกคนในครอบครัวจึงจำต้องต้องมีสุขภาพกายใจที่ดีอยู่เสมอ หากพ่อแม่สงสัยว่าตนเองมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยควรปรึกษาจิตแพทย์

ตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย :

  • แม่รู้ว่าหนูเศร้ามาก ความเศร้าของหนูทำให้หนูเคยคิดฆ่าตัวตายเลยไหม
  • แม่เห็นว่าลูกเครียดมาก ลูกเคยมีความคิดอยากหายไปจากโลกนี้เลยไหม แล้วในความคิดของลูกลูกใช้วิธีอะไรในการหายไปจากโลกนี้หละ

การถามคำถามประเมินความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย จำเป็นต้องถามอย่างใจเย็น ให้เด็กได้เล่าอย่างผ่อนคลายและเปิดใจ อย่าแสดงท่าทีตื่นตกใจหรือตำหนิต่อว่า จากการศึกษาพบว่า “การที่เด็กได้รับการประเมินจะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายในเด็กได้ดีกว่าการไม่ถาม”

ที่มา: สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
https://bit.ly/3wrMdan


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท