Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

โอมิครอน (Omicron) ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ น่ากลัวจริงหรือ?


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: โควิด

26-12-2021 15:50

มารู้จักเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ "โอมิครอน" ภัยร้ายตัวใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดในไทยตอนนี้

ภาพประกอบเคส

เชื้อไวรัสกลายพันธุ์คืออะไร? โอมิครอนที่เขากลัวกันนั้นน่ากลัวจริงหรือไม่?

HIGHLIGHTS

  • โอมิครอน (Omicron) คือ เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่ถูกค้นพบโดยทีมนักวิจัยของประเทศแอฟริกาใต้ โดย WHO ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ต่อมามีการแพร่ระบาดในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศไทย
  • การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือบูสเตอร์โดส ปัจจุบันรัฐบาล วางแผนให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็ม 3 ด้วยวัคซีนประเภท mRNA เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) โดยมีระยะห่างระหว่างเข็ม 2 และเข็ม 3 ประมาณ 3 - 6 เดือน
  • สำหรับมาตรการต่างๆ ในการป้องกันตนเอง ประชาชนทั่วไปยังคงต้องดูแลตัวเองอย่างเข้มงวด อาทิ เลี่ยงการเดินทาง หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง และสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี โดยใส่หน้ากากอนามัยคุณภาพสูงไว้ด้านใน และสามารถสวมหน้ากากผ้าทับหน้ากากอนามัยได้
  • สรุป ความน่ากลัวของ โอมิครอน แม้ไม่ได้อยู่ที่ความรุนแรงของโรค แต่อยู่ที่อัตราการแพร่ระบาดที่มีอัตราการแพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาหลายเท่า

จุดเริ่มต้นการแพร่ระบาด

ย้อนกลับไปในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 โลกได้รู้จักกับไวรัส B.1.1.529 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อโอมิครอน (Omicron) ผ่านการค้นพบของทีมนักวิจัยในประเทศแอฟริกาใต้ ที่ตัดสินใจนำเสนอข้อมูลสำคัญนี้ ต่อองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งหลังจากที่ WHO ได้รับข้อมูลดังกล่าว ก็ได้มีการออกประกาศให้ไวรัสชนิดนี้จัดเป็น “สายพันธุ์ที่น่ากังวล”เพราะจากข้อมูลการรายงานพบว่าโอมิครอนมีจำนวนตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงไปกว่า 60 ตำแหน่ง และมีการเปลี่ยนแปลงที่บริเวณหนามถึง 32 ตำแหน่ง ส่งผลให้ความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่าเชื้อเดลต้าซึ่งปัจจุบันเป็นเชื้อไวรัสแพร่ระบาดชนิดหลักของโลกสูงถึง 5 เท่า และมีอัตราการดื้อต่อวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยกลุ่มประเทศที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วก่อนที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้จะแพร่ระบาดในประเทศไทย คือ กลุ่มประเทศแถบยุโรป ยกตัวอย่าง เช่น อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ รวมถึงประเทศฝรั่งเศส

ในเดือนธันวาคม 2564 ประเทศอังกฤษได้ออกมาตรการใหม่ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดที่รวดเร็วของโอมิครอน อาทิ การใส่หน้ากากเมื่ออยู่นอกอาคาร หรือ เข้าไปในศาสนสถานโรงละคร โรงภาพยนตร์ร้านค้าและขนส่งสาธารณะต่างๆ ที่มีความเสี่ยง จากการรวมตัวกันของคนหมู่มาก นอกจากนั้น รัฐบาลยังปรับเกณฑ์ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งในกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป และกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

“โอมิครอน” น่ากลัวจริงหรือ?

อย่างไรก็ตามยังมีข้อมูลจากหลายแหล่งที่กล่าวอ้างว่า “โอมิครอนนั้นไม่รุนแรง” เพราะติดแล้ว มีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดาและจะหายได้เองต่อให้ติดไวรัสชนิดนี้ก็ไม่รุนแรงถึงชีวิตแต่ในความเป็นจริงมีผู้เสียชีวิตด้วยเชื้อไวรัสโอมิครอนแล้วทั่วโลกสอดคล้องกับข้อมูลที่พบว่า ”โอมิครอน” มีอัตราการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรานำเชื้อไวรัสโอมิครอนมาเทียบกับเชื้อไวรัสอย่างอู่ฮั่น และเดลตา มีข้อมูลว่าถ้าคนที่ติดเชื้อไวรัส 1 คน ไปยืนอยู่กับคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันคนที่ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนจะมีโอกาสในการติดเชื้อสูงถึง 8.54 ซึ่งมีอัตราสูงกว่า เชื้อไวรัสเดลตาที่มีโอกาสติดเชื้อในอัตรา 6.5 นี่คือข้อมูลที่ทำให้เราเห็นว่าการกลายพันธุ์ของโอมิครอนมีความน่ากลัวว่า เดลต้า ที่แพร่ระบาดอยู่ในตอนนี้มากแค่ไหน

สถานการณ์ในประเทศที่น่ากังวล

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยได้มีการยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนรายแรก เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 โดยผู้ติดเชื้อเพศชาย สัญชาติอเมริกัน เดินทางมาจากประเทศสเปน ตรวจพบโดยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งปัจจุบัน จากข้อมูล ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2564 พบว่า ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว 514 ราย โดยอัตราการพบสายพันธุ์โอมิครอน คิดเป็นอัตรา 2 ใน 3 ของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ แบ่งเป็น 10 จังหวัด ดังนี้

1.กาฬสินธุ์

2.ลำพูน

3.อุดรธานี

4.สุรินทร์

5.ภูเก็ต

6.กระบี่

7.ปัตตานี

8.ขอนแก่น

9.มหาสารคาม

10.กรุงเทพมหานครฯ

มาตรการของรัฐและแนวทางการป้องกัน

ด้วยระดับการแพร่ระบาดที่ก้าวกระโดดและจากนโยบายเปิดประเทศที่ต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก แผนการการฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์โดสจึงมีการนำมาทบทวนและประกาศเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่าประเทศไทยต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้ 23 ล้านโดส ภายในเดือน มีนาคม 2565 ตามแนวทางของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ดังนี้

1.ประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็ม 1 และ 2 เป็นแอสตร้าเซเนก้า สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา โดยเว้นระยะห่างตั้งแต่ 3-6 เดือนขึ้นไป หลังจากเข็มที่ 2

2.ประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 เป็นไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา”โดยเว้นระยะห่างตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป

3.ประชาชนที่ได้รับวัคซีนสูตรไขว้ เช่น เข็มที่ 1 ซิโนฟาร์ม เข็มที่ 2 แอสตร้าเซเนก้า สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิด mRNA ได้ ทั้งนี้ การฉีดเข็มกระตุ้น ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะสามารถต่อสู้กับโอมิครอนได้ แต่เป็นเพียงการกระตุ้มภูมิคุ้มกัน เพื่อหน่วงไม่ให้มีการติดเชื้อจำนวนมากในประเทศ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบัน ยังมีกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอยู่ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรค NCDs เป็นต้น

สำหรับแนวทางการป้องกันตัวเองจาก โอมิครอน นั้น ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

1.หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยใช้เวลาอย่างน้อย 20 วินาที ใช้กระดาษเช็ดแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้มือให้แห้ง และใช้กระดาษปิดก๊อกน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสให้มากที่สุด กรณีที่ห้องน้ำไม่มีกระดาษเช็ดมือ ให้ใช้การสะบัดมือ 15-20 ครั้ง แทน

2.สวมใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานอย่างถูกต้องตลอดเวลา ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยแนะนำให้ใส่แบบ 2 ชั้น คือ ใส่หน้ากากผ้าชั้นนอกและใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ด้านใน

3.เลี่ยงรับประทานอาหารร่วมกันเพราะต้องมีการเปิดหน้ากากอนามัย

4.หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดหรือเดินทางไปร่วมงานในสถานที่ ที่มีความเสี่ยง เพราะไม่เว้นระยะห่าง เช่น การไปเที่ยวงานเทศกาลขนาดใหญ่หรืองานคอนเสิร์ตที่ผู้คนไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมากเกินไป เป็นต้น แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือจำเป็นต้องเดินทางไปสถานที่นั้นจริงๆ ก็ต้องป้องกันระมัดระวังตัวเองอย่างสูงสุด ใส่หน้ากากอนามัยสองชั้น อย่างถูกต้อง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งของใดๆ ต้องเว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือบ่อยๆ เมื่อต้องเข้าห้องน้ำสาธารณะ ซื้อชุดตรวจ ATK ไว้ สำหรับเช็คอาการตัวเองได้ตลอดเวลา และเมื่อเดินทางกลับมาแล้ว ก็ให้สังเกตอาการตัวเอง หากพบมีอาการใดๆ ที่น่าสงสัย ให้ตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้ง และแยกตัวเองจากที่ทำงาน เพื่อเป็นการรับผิดชอบความปลอดภัยของส่วนรวม

5.เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายด้วยหลักการ 3 อ. 2 ส. คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 20-30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน คอยดูแลเรื่องอารมณ์ของตัวเอง ไม่ให้เครียดเกินไป นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 7 - 8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมและฟื้นฟูตัวเอง และสิ่งสำคัญ คือ การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

รู้หรือไม่? หน้ากากอนามัยหากใช้ถูกวิธียิ่งเพิ่มความปลอดภัย

นอกจากนั้นการใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีก็มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากเพราะการสวมใส่หน้ากากผ้าเพียงอย่างเดียวมีประสิทธิภาพน้อยมากประชาชนทั่วไปควรใช้หน้ากาก N95 หรือชนิดอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพ โดยอาจจะใส่สองชั้นเพื่อความมั่นใจ และปลอดภัยต่อตัวเองรวมถึงคนอื่นเช่นใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ใส่ไว้ด้านในและสวมหน้ากากผ้าทับไว้ด้านนอกเพื่อให้หน้ากากอนามัยด้านในแนบชิดใบหน้ามากขึ้น

โดยสรุปแล้ว ความน่ากลัวของ โอมิครอน คือ เป็นโรคที่ใหม่ และติดต่อกันได้ง่ายแม้จะไม่น่ากลัวในเรื่องความรุนแรง แต่ก็ประมาทไม่ได้ ต้องหมั่นเฝ้าระวัง ป้องกันตนเอง และตรวจ ATK เป็นประจำด้วยตัวเอง

สำหรับใครที่ยังไม่เคยใช้ชุดตรวจ ATK มาก่อน เรามีคำแนะนำง่ายๆ ดังนี้

1.เมื่อได้ชุดตรวจมาแล้วให้ทำการล้างมือให้สะอาด จัดเตรียมพื้นที่สำหรับการตรวจให้เหมาะสม คือ เช็ดโต๊ะ สวมถุงมือ ตรวจสอบวันหมดอายุของชุดตรวจ สภาพความสมบูรณ์ของชุดตรวจ ตลอดจนอ่านคู่มือ และคำแนะนำให้ละเอีัยด

2.ในชุดทดสอบ จะประกอบไปด้วย ตลับทดสอบ หลอดน้ำยาสกัดเชื้อ ฝาจุก น้ำยาสกัดเชื้อ และก้านเก็บตัวอย่าง ให้เปิดซองก้าน SWAB โดยห้ามสัมผัสปลายสำลี

3.ทำการสอดก้าน SWAB ในโพรงจมูกทั้ง 2 ข้าง หมุนก้าน 5 - 10 รอบ 10-15 วินาที ต่อรอบ โดยระดับความลึกให้ปฏิบัติตามคู่มือของชุดตรวจ ATK นั้นๆ

4.จุ่มก้านเก็บตัวอย่างในหลอดน้ำยาสกัดเชื้อหมุนก้านตัวอย่าง 5-10 ครั้ง และใช้นิ้วมือบีบหลอดเก็บตัวอย่าง เพื่อสกัดเชื้อจากก้านเก็บตัวอย่างให้ได้มากที่สุด

5.นำหลอดที่เก็บตัวอย่างเชื้อ หยดลงไปที่ตลับทดสอบ 3-6 หยด และรอผลประมาณ 15-30 นาที

6.การอ่านผลตรวจ หากผลเป็นลบ แถบสีจะปรากฏเฉพาะตำแหน่ง C แต่หากผลเป็นบวก แถบสีจะปรากฏทั้งตำแหน่ง C และ T เป็น 2 ขีด ทั้งนี้ หากผลเป็นบวก ควรตรวจด้วย RT-PCR เป็นการยืนยันความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับชุดตรวจ ATK ที่ใช้แล้ว ให้ปฏิบัติ ดังนี้

1.หยดน้ำยาล้างจานในชุดตรวจที่ใช้แล้ว

2.แยกชุดตรวจที่ใช้แล้ว ใส่ถุงพลาสติกสีแดง ระบุข้อความบนถุง ขยะติดเชื้อ ให้ชัดเจน

3.ราดหรือฉีดแอลกอฮอล์/น้ำยาฆ่าเชื้ออีกครั้ง ก่อนปิดถุงให้สนิท

4.นำไปทิ้ง โดย แยกจากขยะทั่วไป รอการเก็บทิ้งไปกำจัดอย่างถูกต้อง


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท