Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

นิ้วล็อก ปลดล็อกไม่ยาก


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

18-03-2022 09:34

นิ้วล็อก เป็นอาการปวดบริเวณผ่ามือใกล้ ๆ โคนนิ้ว และโดยมากมักมีอาการนิ้วเคลื่อนที่ไม่สะดวก มีอาการติด หรือสะดุดเวลาขยับนิ้ว

ภาพประกอบเคส

นิ้วล็อก เป็นอาการปวดบริเวณผ่ามือใกล้ ๆ โคนนิ้ว และโดยมากมักมีอาการนิ้วเคลื่อนที่ไม่สะดวก มีอาการติด หรือสะดุดเวลาขยับนิ้ว

สาเหตุ

  • มีการใช้งานของมือและนิ้วมือมากและเป็นระยะเวลานาน
  • ทำงานโดยการกำมือแน่น ๆ เป็นประจำ ทำให้เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้ว

ตัวอย่างลักษณะงานที่พบเจอได้บ่อย เช่น พนักงานออฟฟิศที่พิมพ์งานติดต่อกันเป็นระยะนานติดต่อกันหลายชั่วโมง แม่บ้านที่ต้องซักผ้าและบิดผ้าบ่อย ๆ ถือถุงชอปปิ้งที่ต้องมีการกำมือแน่นระหว่างการหิ้วของหนัก นักกีฬาที่ต้องใช้การจับอุปกรณ์ที่แน่น ๆ เช่น เทนนิส แบดมินตัน เป็นต้น หรือแม้กระทั้งในคนที่ชอบเล่นมือถือ แลปท็อป ที่ต้องใช้การจับมือถือให้มั่นคงอยู่ในมือ เพื่อไม่ให้มือถือหลุดจากมือ

อาการแบ่งเป็น 4 ระยะ โดยการรักษาขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงของนิ้วล็อก

  • ระยะที่ 1 มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือเวลาขยับ แต่ไม่มีการสะดุดระหว่างการเคลื่อนไหวนิ้ว
  • ระยะที่ 2 เริ่มมีการสะดุดเวลาขยับนิ้ว แต่ยังขยับได้อยู่
  • ระยะที่ 3 นิ้วติดล็อก แต่ยังสามารถเหยียดออกได้โดยการใช้มืออีกข้างช่วยแกะ
  • ระยะที่ 4 นิ้วติดจนไม่สามารถขยับออกได้

การรักษา

  • ระยะ 1-2 อาการปวดและเจ็บเวลาขยับนิ้ว มักเริ่มต้นด้วยการทานยาแก้ปวด และพักการใช้งานของนิ้ว การปรับขนาดที่จับให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แพทย์อาจพิจารณาสั่งอุปกรณ์ดามนิ้ว เพื่อป้องกันการใช้งานของนิ้ว นอกจากนี้การรักษาด้วยเครื่องมือทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูยังมีส่วนช่วยในการรักษาได้ค่อนข้างดี เช่น การแช่น้ำอุ่นวันละประมาณ 10-20 นาที และขยับเบา ๆ ในขณะแช่ การใช้เครื่องอัลตราซาวน์ เลเซอร์ หรือคลื่นกระแทก (extracorporeal shockwave) ก็สามารถช่วยลดการปวดและอักเสบได้
  • ในระยะ 3 – 4 แพทย์อาจพิจารณาการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ หรืออาจพิจารณาผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นที่หนาตัวให้เปิดขยายขึ้น และทำให้เส้นเอ็นขยับได้คล่องตัวมากขึ้น

การป้องกันโรคนิ้วล็อก

– พักระหว่างการทำงาน ไม่พิมพ์งาน หรือใช้คอมนานจนเกินไป วิธีนี้นอกจากป้องกันนิ้วล็อก ยังป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรม ปวดคอ บ่า ไหล่ได้อีกด้วย
– ไม่หิ้วของหนักเกินไป
– ไม่หักนิ้ว ดีดนิ้ว
– หลีกเลี่ยงการซักผ้าด้วยมือ
– นำผ้ามาพันรอบด้ามอุปกรณ์กีฬาให้หนาตัวขึ้น
– ไม่ดัด พยายามเหยียดนิ้วมือหากมีอาการนิ้วล็อก และแก้โดยเอามือจุ่มในน้ำอุ่น นวดบริเวณโคนนิ้วเบา ๆ และค่อย ๆ เหยียดออกเบา ๆ ในขณะจุ่มน้ำอุ่น

ที่มา : อ. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล https://bit.ly/3lUOKFS


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท