ชราสุข ด้วย 11 อ.
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
17-03-2022 18:44
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ สภาพร่างกายที่ถดถอยคงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ต่างหาก คือเรื่องสำคัญที่ผู้สูงวัยทุกคนต้องเตรียมรับมือให้พร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ สภาพร่างกายที่ถดถอยคงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ต่างหาก คือเรื่องสำคัญที่ผู้สูงวัยทุกคนต้องเตรียมรับมือให้พร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและมีความสุขสมวัยหากทำได้ตามนี้ครบทั้ง 11 เคล็ดลับ คำว่า สุขภาพดี ไม่ห่างไกลไปไหนแน่นอน
- อ.1 อาหาร ต้องท่องจำให้ขึ้นใจ “ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม” และควรลดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมัน แต่ให้เพิ่มใยอาหารจากผัก ผลไม้ ถั่วทุกชนิด มันเทศ
- อ.2 อากาศ ดูแลธรรมชาติรอบเพื่อให้ร่างกายได้อากาศบริสุทธิ์ หรือฝึกลมปราณด้วยการนั่งขัดสมาธิ ง่ายๆ
- อ.3 ออกกำลังกาย ง่ายๆ ด้วยการเดินหรือการบริหารข้อต่างๆ ในร่างกาย เน้นการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ไม่หักโหม
- อ.4 แสงอาทิตย์ การรับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าอย่างน้อยวันละ 30 นาที ช่วยให้ร่างกายของผู้สูงวัยได้รับวิตามินดีเข้าไปช่วยดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส และสามารถชะลอการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ โรคซึมเศร้า มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม เบาหวานโรคอ้วน และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันฮอร์โมนกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
- อ.5 อารมณ์ ผู้สูงวัยจะมีภาวะอารมณ์หลากหลาย การป้องกันคือการยึดศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ เช่น การทำสมาธิ หมั่นศึกษาธรรมะอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นวิธีที่ช่วยให้จิตใจสงบสุขและมีสติมากขึ้น
- อ.6 อบอุ่น ผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มองว่าตนเองเป็นคนไร้คุณค่า ชอบแยกตัว จิตใจหม่นหมอง ให้ลองหันกลับมามองที่สถาบันครอบครัว ใช้ชีวิตอยู่กับลูกหลานให้มีความสุข ได้ทำกิจกรรมครอบครัว ได้มีช่วงเวลาพักผ่อนอย่างเต็มที่ โดยปราศจากความกังวลต่อสิ่งใดๆ
- อ.7 อนามัย หมั่นตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำทุกปี หามีโรคประจำตัวอยู่แล้วก็ควรมีวินัยต่อตนเอง ทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- อ.8 อดิเรก การหางานอดิเรกทำจะช่วยลดทอนความเหงา หากได้ทำในกิจกรรมที่ชื่นชอบก็จะมีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นได้ตลอดทั้งวัน
- อ.9 อุจจาระ หากไม่มีการขับของเสียออกจากร่างกายหรือขับถ่ายแล้วแต่ยังมีของเสียตกค้างอยู่ในลำไส้จะกลายเป็นสารพิษสะสม ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา
- อ.10 อุบัติเหตุ การเคลื่อนไหวร่างกายและประสาทสัมผัสต่างๆ จะมีประสิทธิภาพลดลง เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้สูงวัยระมัดระวังตัวเอง
- อ.11 อนาคต หากมีการเตรียมความพร้อมเสียแต่เนิ่นๆ ผู้สูงวัยจะสามารถบริหารจัดการเงินเก็บยามเกษียณได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน
ที่มา : หนังสือชราสุขด้วย 11 อ. โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)