โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้องผู้สูงวัย
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
16-03-2022 15:53
หลอดเลือดแดงใหญ่ มีหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆทั่วร่างกาย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการรับเลือดดีออกจากหัวใจไหลผ่านมาทางหน้าอก กะบังลม ช่องท้อง ก่อนจะแยกออกเป็น 2 สาย เพื่อไปเลี้ยงขาทั้ง 2 ข้าง และอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ดังนั้นหากหลอดเลือดแดงนี้เกิดความผิดปกติขึ้น ก็จะส่งผลให้เลือดรั่วไหลออกมาหมดจนไม่สามารถเดินทางไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ และส่งผลทำให้เสียชีวิตในที่สุด
หลอดเลือดแดงใหญ่ มีหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆทั่วร่างกาย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการรับเลือดดีออกจากหัวใจไหลผ่านมาทางหน้าอก กะบังลม ช่องท้อง ก่อนจะแยกออกเป็น 2 สาย เพื่อไปเลี้ยงขาทั้ง 2 ข้าง และอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ดังนั้นหากหลอดเลือดแดงนี้เกิดความผิดปกติขึ้น ก็จะส่งผลให้เลือดรั่วไหลออกมาหมดจนไม่สามารถเดินทางไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ และส่งผลทำให้เสียชีวิตในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ คือคนไข้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง มีประวัติการสูบบุหรี่เรื้อรัง หรือแม้แต่คนที่เคยสูบและเลิกไปแล้วก็ถือว่ามีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งโรคดังกล่าวนี้จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคนี้นั้นมักจะไม่แสดงอาการแต่หากคลำดูจะพบก้อนเนื้อที่มีลักษณะคล้ายหัวใจเต้นบริเวณช่องท้อง
สำหรับคนอ้วนที่ไขมันเยอะจนไม่สามารถคลำหาก้อนเนื้อนี้ได้ด้วยมือเปล่า จะใช้การอัลตร้าซาวน์หลอดเลือดเพื่อตรวจดูว่ามีการโป่งพองหรือไม่ แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง หรือปวดท้องร้าวไปจนถึงบริเวณหลัง ก็มีความเป็นไปได้ว่าเส้นเลือดนี้ใกล้จะแตกแล้วและต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยด่วน ซึ่งหากช้าไปอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองนี้สามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัด สำหรับผู้ที่เส้นเลือดโตถึง 5.5 ซม. ส่วนในรายที่ยังมีขนาดเล็กหรือไม่ถึง 5.5 ซม. นั้นทางแพทย์จะแนะนำให้ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดโตเร็ว คือการเลิกสูบบุหรี่ ควบคุมไขมันในเลือด หรือควบคุมความดันโลหิต
กรณีที่ต้องผ่าตัดนั้น จะมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่
- ผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง หรือ การผ่าตัดใหญ่ เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานโดยแพทย์ต้องวางยาสลบ และทำการเปิดแผลใหญ่ตั้งแต่ลิ้นปี่ไปจนถึงขาหนีบ ก่อนใส่หลอดเลือดเทียมเข้าไปทดแทนหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพอง ซึ่งให้ผลการรักษาในระยะยาวได้ดี แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดค่อนข้างนานจึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
- การผ่าตัดแบบใส่หลอดเลือดเทียมที่มีสายสวน หรือ การผ่าตัดเล็ก วิธีนี้เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาที่ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยแพทย์จะทำการใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวดเข้าไปแทนที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองในช่องท้องผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบทั้ง 2 ข้าง ข้อดีของวิธีนี้ คือ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว และมีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง การรักษาในระยะสั้นและระยะกลางมีประสิทธิภาพดีแต่ต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามผลในระยะยาวต่อไป
ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=98532