การปฏิบัติตัวเมื่อไขมันในเลือดสูงของผู้สูงอายุ
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
16-03-2022 15:47
เมื่อทราบว่าไขมันในเลือดสูง ควรปฏิบัติตัวดังนี้
เมื่อทราบว่าไขมันในเลือดสูง ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- ควบคุมอาหาร
- ถ้าน้ำหนักเกินพิกัดควรลดน้ำหนัก
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ออกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ กายบริหาร เป็นต้น โดยทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30-45 นาที ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด และออกกำลังกายชนิดใดจึงจะเหมาะสม
- งดสูบบุหรี่ เพราะจะยิ่งทำให้หลอดเลือดอุดตันเพิ่มขึ้น
- พยายามไม่อยู่นิ่งเฉย ไม่นั่ง ยืน นอน ตลอด ควรทำกิจกรรมต่างๆ สม่ำเสมอ
- ลดความเครียด
- ถ้าคุมอาหาร ออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ แล้ว ยังไม่ได้ผล แพทย์อาจให้รับประทานยาลดไขมัน ซึ่งมีหลายชนิด แพทย์จะพิจารณาจากลักษณะของไขมันที่สูงว่าผู้ป่วยควรรับประทานยาใด
- ตรวจเช็คระดับไขมันในเลือดสูงเป็นระยะตามนัด
การควบคุมอาหารในผู้ที่ไขมันในเลือดสูง ควรปฏิบัติอย่างไร
- รับประทานอาหารครบส่วนทั้ง 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงของทอด ผัดที่ใช้น้ำมัน รับประทานเป็นอาหารต้ม นึ่งซึ่งไม่ใช้น้ำมัน
- ถ้าใช้น้ำมันควรใช้น้ำมันพืช ที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูงเช่น น้ำมันถั่วเหลือง ดอกทานตะวัน มะกอก ข้าวโพด รำข้าว เมล็ดดอกคำฝอย ส่วนน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว ควรเลี่ยงเนื่องจากจะทำให้ แอลดีแอลสูงทำให้หลอดเลือดตีบแข็งง่าย
- งดอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อติดมันและหนัง ถ้าจะรับประทานให้เอามันและหนังออกก่อน เครื่องในสัตว์ทุกชนิด ส่วนอาหารที่ควรหลีกลี่ยงหรือรับประทานนานๆ ครั้งได้แก่ อาหารทะเลพวกกุ้ง ปู ปลาหมึก ไข่แดง ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง เป็นต้น
- อาหารที่สามารถรับประทานได้เป็นประจำคือ เนื้อไม่ติดมันไม่ติดหนัง ไข่ขาว ปลา ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ
- ควรรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำทุกมื้ออาหารเนื่องจากลดการดูดซึมไขมันจากอาหารอื่นเข้าสู่ร่างกาย เพิ่มกากใยในอุจจาระทำให้ท้องไม่ผูก
ที่มา : เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_6_004.html