Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ไม่มีฟัน สาเหตุหลักของการขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ


หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

16-03-2022 15:43

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มากไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ จากความเสื่อมสภาพของร่างกายรวมถึงภาวะการ “ไม่มีฟัน” ซึ่งเกิดจากการสูญเสียฟันไปตามอายุขัย ซึ่งทำให้เกิดภาวะ “ขาดสารอาหาร” ตามมา

ภาพประกอบเคส

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มากไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ จากความเสื่อมสภาพของร่างกายรวมถึงภาวะการ “ไม่มีฟัน” ซึ่งเกิดจากการสูญเสียฟันไปตามอายุขัย ซึ่งทำให้เกิดภาวะ “ขาดสารอาหาร” ตามมา

สาเหตุการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุ

  • ฟันผุ เกิดจากการทำความสะอาดได้ไม่ดีและปล่อยให้ลุกลามจนกระทั่งเกิดการผุกร่อนของฟัน จนตัวฟันอาจจะเเตกหักเหลือแต่รากฟันและต้องถูกถอนออกในที่สุด
  • การดูแลรักษาสุขภาพอย่างไม่ถูกวิธีก่อให้เกิดหินปูนตามตัวฟันส่งผลให้เหงือกอักเสบ และหากปล่อยทิ้งไว้จะลุกลามจนก่อให้เกิดการอักเสบต่อกระดูกเบ้าฟัน การอักเสบนี้จะส่งผลให้กระดูกล้อมรอบฟันละลายลงไปเรื่อยๆ หากไม่มีการรักษาอย่างไม่ถูกวิธีจนกระทั่งสูญเสียฟันไป
  • ผลจากการดูแลสุขภาพในช่องปากไม่ดีพอในวัยที่อายุยังน้อย มีการสูญเสียฟันต้องแต่อายุน้อย
  • ไม่พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ (ควรพบทันตแพทย์ทุก6-12เดือน)
  • ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องว่าควรมาพบทันตแพทย์เมื่อมีอาการเท่านั้น

ผลกระทบจากการสูญเสียฟัน

  • เคี้ยวอาหารบางประเภทไม่ได้ โดยเฉพาะอาหารที่มีลักษณะเหนียว แข็ง เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เป็นต้น
  • เคี้ยวอาหารได้ยากลำบาก บางรายใช้ฟันที่เหลืออยู่เคี้ยวอาหารให้อ่อนลงและใช้เหงือกบดอาหารต่อ
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารบางชนิด ทำให้ได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ เกิดภาวะขาดสารอาหารในที่สุด

การดูแลสุขภาพฟัน

การรักษาสุขภาพช่องปากเหมือนกับการดูแลสุขภาพร่างกาย ดังนั้นเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ควรจะหมั่นพบทันตแพทย์ทุก 6-12 เดือนเพื่อให้ช่องปากอยู่ในสุขภาพที่ดี มิใช่เพียงแต่ไปพบทันตแพทย์เมื่อมีปัญหา แต่เป็นการดูแลและป้องกันเพื่อรักษาสุขภาพช่องปากของเราให้แข็งแรงสมบูรณ์เช่นเดียวกับร่างกายของเรา และหากตนเองรู้สึกว่ามีความผิดปกติใดๆ ในช่องปากควรไปพบทันตแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เนื่องจากปัญหาเล็กที่แก้ไขง่ายจะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่และรักษายากยิ่งขึ้น เช่นหากมีฟันที่ถูกถอนไปไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำว่าจำเป็นต้องมีการรักษาเพิ่มเติมเช่น การรักษาโดยใช้วิธีการจัดฟันเพื่อปิดช่องว่างจากการสูญเสียฟันหากเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาเช่น ปัญหาฟันล้มหรือฟันคู่สบงอกยื่นยาวลงมาจนกระทั่งกระแทกเหงือก หรืออาจใช้ฟันปลอมทดแทนช่องว่างจากการถอนฟัน ก็จะช่วยให้สามารถกลับมาเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ และป้องกันภาวะการขาดสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สาเหตุอื่นที่ทำให้ผู้สูงอายุน้ำหนักตัวลดลง

  • โรคบางอย่างที่เป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักลดลง เช่น เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ มะเร็งบางอย่าง เป็นต้น
  • ปัญหาทางด้านจิตใจ ผู้สูงอายุไม่อยากทานอาหารอาจเพราะไม่ได้ทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากับคนในครอบครัว
  • การรับรสที่เปลี่ยนไปของผู้สูงอายุบางราย เช่นในผู้สูงอายุที่ขาดวิตามิน ทำให้การรับรสผิดปกติ และเกิดความไม่อยากอาหาร

การดูแลผู้สูงอายุเมื่อน้ำหนักตัวลดลงมาก

  • สังเกตเบื้องต้นว่าผู้สูงอายุมีปัญหาด้านใด จึงไม่ยอมทานอาหารหรือทานได้น้อยลง
  • ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ เพราะอาจมีโรคอื่นแฝงอยู่เป็นเหตุให้น้ำหนักลดลงได้ เช่น เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ มะเร็งบางอย่าง เป็นต้น หรืออาจเป็นโรคทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า เป็นต้น
  • นอกจากการวินิจฉัยโรคที่ทำให้น้ำหนักลดลง แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้ด้วยว่าผู้สูงอายุขาดสารอาหารชนิดใดบ้าง และวางแผนในเรื่องของการให้ผู้สูงอายุทานอาหารเสริมที่เหมาะสม
  • ผู้สูงอายุบางรายมีปัญหาเรื่องการทำงานของไตบกพร่อง การให้กินโปรตีนเสริมคือความเสี่ยงที่ทำให้ไตทำงานหนัก ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนรับประทานอาหารเสริม
  • หากผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพฟันควรรีบพาไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา
  • ปรับรสชาติอาหารให้ถูกปากผู้สูงอายุ
  • ปรับอาหารให้มีเนื้อสัมผัสที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุ เพื่อให้เคี้ยวได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ผู้สูงอายุอยากกินอาหารได้มากขึ้น เช่น เปลี่ยนจากเนื้อหมูชิ้นเป็นหมูบด หรือตุ๋นเนื้อหมูให้นานกว่าปกติเพื่อให้มีเนื้อสัมผัสที่นุ่มขึ้น เป็นต้น
  • การร่วมกันกินอาหารกับคนในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญของผู้สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงอายุอยากกินอาหารได้มากขึ้น
  • ควรให้ผู้สูงอายุกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากผู้สูงอายุไม่สามารถกินได้ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเรื่องการให้ผู้สูงอายุกินอาหารเสริม

ที่มา : รายการพบหมอรามา
https://bit.ly/2x7cGPD


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท