Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

หกล้มในผู้สูงอายุ ปัญหาที่ต้องระวัง


หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

16-03-2022 15:29

ปัญหาหกล้มในผู้สูงอายุมีอันตรายกว่าคนวัยอื่นหลายเท่าตัว และในผู้สูงอายุยังมีความเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายเนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงและทรงตัวได้ไม่ดีพอ โดยในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เสี่ยงต่อการหกล้ม 28-35% ส่วนในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการหกล้มเพิ่มขึ้นเป็น 32-42%

ภาพประกอบเคส

ปัญหาหกล้มในผู้สูงอายุมีอันตรายกว่าคนวัยอื่นหลายเท่าตัว และในผู้สูงอายุยังมีความเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายเนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงและทรงตัวได้ไม่ดีพอ โดยในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เสี่ยงต่อการหกล้ม 28-35% ส่วนในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการหกล้มเพิ่มขึ้นเป็น 32-42% ไม่เพียงเท่านั้นจากสถิติเกี่ยวกับการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากการหกล้มสูงเป็นอันดับ 2 รองจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย

การหกล้มเกิดจากการสูญเสียการทรงตัว ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ เช่น แขน ขา ศีรษะ ฯลฯ เกิดการกระแทก และมีอาการบาดเจ็บตามมา อาจบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยไปจนถึงบาดเจ็บรุนแรง และรุนแรงที่สุดคือเสียชีวิต โดยปัญหาการหกล้มเกิดมากกับผู้สูงอายุ และมีความอันตรายมากกว่าคนวัยอื่น จากสถิติยังพบว่ามีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ย 3 คนต่อวัน

ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันและแก้ไขได้หากเข้าใจถึงความเสี่ยงและการดูแลที่เหมาะสม

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุ ปัจจัยภายในได้แก่

  1. การเปลี่ยนแปลงด้านสายตา ผู้สูงอายุมักมีปัญหาสายตายาว ทำให้คาดคะเนระยะทางได้ไม่ถูกต้อง หรือโรคต้อที่ทำให้มองเห็นไม่ชัด จึงเกิดการหกล้ม
  2. การเปลี่ยนแปลงด้านข้อต่อและเอ็นที่อ่อนแอลง ส่งผลต่อการทรงตัว จึงทำให้เกิดการหกล้มได้
  3. ระบบทางเดินปัสสาวะ ในผู้สูงอายุพบว่ามีปัญหาปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นไม่อยู่ ทำให้ต้องรีบเร่งในการเข้าห้องน้ำและเกิดการหกล้มบ่อยครั้ง
  4. ความเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวบางอย่าง ก็ส่งผลต่อการหกล้มได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมองส่งผลให้แขนขาอ่อนแรง จึงขาดสมดุลในการทรงตัว โรคพาร์กินสัน ที่มีภาวะสั่นก็มีความเสี่ยงต่อการหกล้มสูงเช่นกัน
  5. การใช้ยาบางตัวมีความเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น ยาลดความดันโลหิต ยานอนหลับ ยาต้านการซึมเศร้า

ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายนอกหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุ ประกอบไปด้วยสิ่งแวดล้อมในบ้านและนอกบ้าน เช่น พื้นบ้าน แสงสว่างไม่เพียงพอ บันได ห้องน้ำ ห้องครัว รองเท้าไม่เหมาะสม เป็นต้น

ผลกระทบจากการหกล้มในผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านร่างกาย เกิดการบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงรุนแรง อาจเกิดความพิการหรือเสียชีวิต
  2. ด้านเศรษฐกิจ เสียค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล และถ้าหากมีภาวะแทรกซ้อน อาจทำให้ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลนานขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายสูง
  3. ด้านจิตใจ มีความกังวลใจ ขาดความมั่นใจในการเดิน กลัวการหกล้ม อาจเกิดภาวะซึมเศร้าทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้ลดลง

วิธีการป้องกัน

  1. ส่งเสริมการออกกำลังกายให้กับผู้สูงอายุ โดยการเลือกท่าทางเพิ่มความคงทนของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นของกระดูกและข้อ ช่วยเรื่องการทรงตัวหรือการเดิน ผลลัพธ์ที่ได้คือร่างกายแข็งแรง เคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่วมากขึ้น ทำให้อัตราการหกล้มลดลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเลือกท่าทางให้เหมาะกับบุคคลด้วย คือต้องรู้ว่าบุคคลนั้นมีปัญหาด้านไหนอยู่ก่อนหรือไม่ เช่น ถ้าหากมีปัญหาเข่าเสื่อมควรหลีกเลี่ยงการวิ่ง เป็นต้น
  2. การปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในและรอบบ้าน เช่น เลือกวัสดุพื้นที่ไม่ลื่นและไม่ต่างระดับ หลีกเลี่ยงการใช้พรมหรือเสื่อ หากต้องการใช้จะต้องดูแลให้เรียบอยู่เสมอ จัดระเบียบสายไฟให้เรียบร้อย ดูแลเรื่องแสงสว่างให้เพียงพอ เลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ได้แก่ ส้นเตี้ย หน้ารองเท้ากว้าง เพื่อการเคลื่อนไหวที่สะดวก รวมถึงการเลือกเฟอนิเจอร์ให้เหมาะกับสรีระผู้สูงอายุ และเลือกให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหว
  3. การให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ โดยให้คนรอบข้างผู้สูงอายุ รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงตามวัย สังเกตว่าผู้สูงอายุในบ้านมีความเปลี่ยนแปลงในร่างกายด้านไหนบ้าง เช่น เคลื่อนไหวไม่ถนัด ทรงตัวไม่ดี เวียนศีรษะ จากนั้นก็ทำการปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว ผู้ดูแลต้องรู้วิธีการกินยาที่ถูกต้อง และดูแลให้ผู้สูงอายุกินยาสม่ำเสมอ รวมถึงการสังเกตอาการข้างเคียง หากพบว่ามีควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจต้องปรับเปลี่ยนยา นอกจากนี้ในด้านการเปลี่ยนแปลงอริยาบถของผู้สูงอายุจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่เปลี่ยนท่าทางเร็ว เพราะจะทำให้เวียนศรีษะ ทรงตัวได้ไม่ดี นอกจากนี้ควรดูแลให้ผู้สูงอายุทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย

หากเกิดปัญหาหกล้มในผู้สูงอายุ การดูแลเบื้องต้นคือให้ผู้ดูแลสำรวจดูก่อนว่ามีการบาดเจ็บเกิดขึ้นหรือไม่ หากบาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกหัก ไม่ควรให้ผู้สูงอายุลุกขึ้นเอง เพราะอาจทำให้กระดูกเคลื่อน ควรให้ผู้สูงอายุนอนอยู่ในท่าเดิมและรอให้ผู้เชี่ยวชาญมาทำการเคลื่อนย้ายร่างผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล หากบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น มีรอยถลอกนิดหน่อย สามารถลุกได้เอง แต่ถึงอย่างไรก็ควรพบแพทย์ภายหลัง เพื่อประเมินสุขภาพว่ามีอันตรายเกิดขึ้นหรือไม่ และทำการรักษาให้ถูกต้องเหมาะสมตามลำดับ

ที่มา : รายการ Rama Square
http://bit.l/2F7KBqs


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท