Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

จาก “Pandemic” สู่ “Endemic” ทำความเข้าใจก่อน COVID-19 ถูกถอดออกจากสิทธิ UCEP


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: โควิด

15-03-2022 14:55

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความกังวล และความไม่สบายใจเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปจำนวนมาก เมื่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางพิจารณาเตรียมความพร้อมให้โรค COVID-19เป็นโรคประจำถิ่น เพราะหลายคนเกรงว่าจะต้องเสียสิทธิ์รักษาฟรี ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องรับผิดชอบดูแลในสถานการณ์ฉุกเฉินไป

ภาพประกอบเคส

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความกังวล และความไม่สบายใจเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปจำนวนมาก เมื่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางพิจารณาเตรียมความพร้อมให้โรค COVID-19เป็นโรคประจำถิ่น เพราะหลายคนเกรงว่าจะต้องเสียสิทธิ์รักษาฟรี ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องรับผิดชอบดูแลในสถานการณ์ฉุกเฉินไป

แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่หลายคนกังวลหรือไม่? สถานการณ์ความรุนแรงลดลงถึงขนาดเป็นโรคประจำถิ่นได้แล้วจริงหรือ? บทความนี้จะพาไปเจาะลึก ข้อมูลและข้อเท็จจริง ตลอดจนสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจก่อนที่โควิด จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในไทยอย่างถาวร แต่ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาอื่น เรามาทำความเข้าใจคำว่า “โรคประจำถิ่น” กันก่อนว่า แท้จริงแล้วมีคำนี้ใช้อย่างเป็นทางการในกฎหมายฉบับใดหรือไม่

ตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีการแบ่งประเภทของโรคติดต่อไว้ 4 ประเภท ได้แก่
1.โรคติดต่อ
2.โรคติดต่ออันตราย
3.โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
4.โรคระบาด

ซึ่งโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ถูกจัดอยู่ในประเภทโรคติดต่ออันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 จะเห็นว่า ตามประเภทของโรคติดต่อที่กฎหมายตราไว้ ไม่มีคำว่า “โรคประจำถิ่น” ระบุไว้ ดังนั้น หากจะเทียบเคียงกับถ้อยคำของกฎหมายที่มีอยู่ “โรคประจำถิ่น” จะมีความรุนแรงเทียบเท่า “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ให้นิยามไว้ว่า “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” หมายความว่า โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง (ปัจจุบันมีทั้งหมด 57 โรค)

ลำดับต่อมา คือ สิทธิในการได้รับการรักษาของประชาชน หากโรคโควิด 19 ถูกประกาศให้เป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” ย้อนกลับไป ปี 2563 หลังจากที่ โควิด 19 ถูกประกาศให้เป็น “โรคติดต่อร้ายแรง” ก็ได้เกิดการร่วมบูรณาการของ 3 หน่วยงาน คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 ดังนี้
1.สิทธิในการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและเป็นไปตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิดังกล่าว โดยที่ สปสช. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าตรวจ ทางห้องปฏิบัติการทั้งในสถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลของเอกชน
2. ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนได้ทุกแห่ง และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยที่สถานพยาบาลของเอกชนจะต้องดำเนินการส่งข้อมูลเพื่อขอเบิกเงินตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมายัง สปสช. ก่อนที่จะส่งเรื่องไปยัง 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม เพื่อจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาล ของเอกชนโดยตรงต่อไป

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามสิทธิของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 49 วรรค 3 ซึ่งกำหนดให้บุคคล ย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนั้น ในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ออกประกาศให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ได้รับสิทธิยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients--UCEP) เป็นสิทธิการรักษาตามนโยบายของรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยไม่ต้องสำรองจ่าย แบ่งอาการออกเป็น 6 ประเภท ที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ได้แก่
1.หมดสติ ไม่รู้ตัว ไม่หายใจ
2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6.อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

ซึ่งผลจากการประกาศของ สธ. ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจโควิดกับโรงพยาบาลเอกชนแล้วผลการวินิจฉัยออกมาเป็นบวก สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนนั้นได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นั่นเท่ากับว่า หากรัฐบาลยกเลิกสิทธิยูเซ็ปที่เคยประกาศรับรองสิทธิให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทุกคน การตรวจโควิด 19 กับโรงพยาบาลเอกชนแล้วผลออกมาเป็นบวก ผู้ป่วยจะไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เว้นแต่แพทย์จะวินิจฉัยว่า อาการของผู้ป่วยเข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤตตามหลักเกณฑ์ของ สปสช. ผู้ป่วยจึงจะสามารถใช้สิทธิยูเซ็ปได้ตามเดิม

ประเด็นคำถามที่น่าสนใจ คือ หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ มีเกณฑ์อะไรชี้วัดได้บ้างว่าโรคโควิด 19 จะถูกปลดสถานะจากการเป็น “โรคติดต่อร้ายแรง”

เพื่อตอบคำถามนี้ เราจะมาไล่เรียงเกณฑ์ชี้วัดทั้ง 4 ข้อ ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างก็ออกมาระบุว่ารัฐบาลจะใช้เกณฑ์เหล่านี้ ประกอบการพิจารณา ได้แก่

1.ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 รายต่อวัน
สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น : จากข้อมูลของกรมการแพทย์ระบุว่า ระหว่างเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบเท่าตัว ซึ่งจากการรายงานของ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 พบว่า ณ วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศมีผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 21,232 ราย และมีผู้ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK 16,890 ราย

2.อัตราการเสียชีวิตไม่เกิน 0.1% (หรือ ใน 1,000 คน เสียชีวิต 1 คน)
สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น : จำนวนผู้เสียชีวิตเดือนมกราคม เฉลี่ย 18 ราย และเดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ย 23 ราย ซึ่งหากเทียบจากหลักเกณฑ์ใน ข้อ 2 ถือว่าเกิน 0.1% แล้ว

3.จำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องนอนโรงพยาบาลจะต้องไม่เกิน 10% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ
สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น : ในส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่าอัตราครองเตียงลดลง -1.00% และระบบสาธารณสุขสามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 43,075 ราย/วัน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าหากมีการยกเลิกสิทธิยูเซ็ป จะส่งผลให้จำนวนเตียงของ Hospitel หายจากระบบไปด้วยจำนวนหนึ่ง และจะถูกแทนที่ด้วยการรักษาตัวแบบ Home isolation แทน ซึ่งจากการรายงานผลผู้ป่วยรายใหม่ จากข้อ 1 จะเห็นว่าหากนำจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ มารวมกับจำนวนผู้ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK จะมีจำนวผู้ป่วยต่อวันรวมทั้งสิ้น 38,122 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อเทียบกับจำนวนเตียงที่รองรับได้ต่อวัน

4.ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 80%สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง : เปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนครบโดส และวัคซีนเข็มกระตุ้นของไทย กำลังขยับเข้าใกล้เป้าหมาย 80% มากขึ้นทุกวัน ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า มีผู้ได้รับเข็ม 1 คิดเป็น 76.1% มีผู้ได้รับเข็ม 2 คิดเป็น 71% และผู้ที่ได้รับเข็ม 3 ขึ้นไป คิดเป็น 26.8% จำนวนรวมนี้เป็นผลรวมของทั้งประเทศ โดยไม่ได้แยกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงออกจากกลุ่มประชาชนทั่วไป

เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ ที่กล่าวมา จะเห็นว่ามีหลายปัจจัยประกอบกัน ที่ทำให้โควิด 19 ควรจัดอยู่ในกลุ่ม “โรคติดต่อร้ายแรง” ต่อไป แต่ถ้าหากรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าผลักดันการปลดสถานะโควิด 19 ให้กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” ต่อไป คำถาม คือ เหตุการณ์นี้จะกระทบสิทธิการรักษาของประชาชนหรือไม่?

เพื่อให้เห็นภาพรวมของประเด็นนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น องค์กรแรกที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ยังคงเข้ามาดูแลสิทธิการรักษาของประชาชนให้อยู่ แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากปัจจุบัน เช่น การเข้ารับการรักษาใน Hospitel ของโรงพยาบาลเอกชน หากผู้ป่วยมีประกัน และเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนก็ยังคงมีการส่งตัวไปรักษาต่อตามเดิม แต่ถ้าผู้ป่วยไม่มีประกัน ต้องเป็นไปตามสิทธิ์การรักษาที่มี สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก กักตัวทีบ้านได้ จะมีระบบ Home isolation (กักตัวที่บ้าน) และ Community Isolation (กักตัวในชุมชน) เข้ามาช่วยดูแล ส่งข้าว 3 มื้อ และยารักษา เพื่อติดตามอาการ แต่หากป่วยหนัก ผู้ป่วยจะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับผู้ได้รับผลข้างเคียงรุนแรงจากการฉีดวัคซีน เช่น เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ที่ประชาชนกังวลว่าหากโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น จะไม่ได้รับการชดเชย กรณีเสียชีวิตกจากการฉีดวัคซีน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สาเหตุที่ สปสช. เข้ามาดูแลจ่ายค่าชดเชยเมื่อเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนนั้น เป็นเพราะวัคซีนโควิดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น รัฐถือว่าอยู่ในระดับ “การทดลอง” เมื่อประชาชนได้รับผลกระทบจากมาตรการทางสาธารณสุขของรัฐ จึงต้องมีการชดเชยความเสียหายเบื้องต้นให้โดยไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดว่าเกิดจากวัคซีนจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักการช่วยเหลือเดียวกันกับ ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 แต่หากในอนาคตวัคซีนโควิด ไม่ได้อยู่ระดับการทดลองแล้ว รูปแบบการชดเชยจะกลับเข้าสู่เกณฑ์ปกติ

ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่า รัฐบาลมีการชะลอแผนที่จะนำโรคโควิด 19 ออกจาก UCEP ไปก่อนชั่วคราวแต่มีการปรับเกณฑ์ในการนำส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล ตามแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วย และการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ซึ่งมีเกณฑ์พิจารณา 5 ข้อ ดังนี้
1.มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
2.หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาทีในผู้ใหญ่
3.Oxygen Saturation น้อยกว่า 94%
4.โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์
5.ในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง

ทั้งนี้ ก็เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ที่ทำให้รัฐบาลประกาศยกระดับการเตือนภัย โควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ โดยมีมาตรการ ดังนี้
1.งดเข้าสถานที่เสี่ยง
2.งดทานอาการร่วมกัน ดื่มสุราในร้าน
3.เลี่ยงไปซื้อของที่มีคนจำนวนมาก เช่น ตลาด ห้าง
4.เลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน
5.งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม ตามเกณฑ์ต่างๆ
6.มาตรการทำงานที่บ้านให้ได้ ร้อยละ 50-80
7.ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดหากจำเป็น ให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว
8.เลี่ยงไปต่างประเทศ
9.หากเข้าประเทศต้องปรับตัวในสถานที่กักกัน


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท