Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

การเอาตัวรอดจากการจมน้ำ แม้ว่ายน้ำไม่เป็น


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

15-03-2022 14:31

โดยธรรมชาติแล้วเมื่อเกิดเหตุคับขัน พลัดตกเรือ เรือล่ม หรือจมน้ำ หลายคนจะตื่นตระหนกตกใจกลัวว่าจะจมน้ำ จึงพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอดดันตัวเองให้ลอยอยู่ที่ผิวน้ำเพื่อที่จะหายใจ ซึ่งกลับเป็นการเร่งให้จมน้ำเร็วขึ้น ดังนั้นหากเราตั้งสติและช่วยเหลือตัวเองได้อย่างทันท่วงที โอกาสรอดชีวิตย่อมมีสูงตามไปด้วย

ภาพประกอบเคส

โดยธรรมชาติแล้วเมื่อเกิดเหตุคับขัน พลัดตกเรือ เรือล่ม หรือจมน้ำ หลายคนจะตื่นตระหนกตกใจกลัวว่าจะจมน้ำ จึงพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอดดันตัวเองให้ลอยอยู่ที่ผิวน้ำเพื่อที่จะหายใจ ซึ่งกลับเป็นการเร่งให้จมน้ำเร็วขึ้น ดังนั้นหากเราตั้งสติและช่วยเหลือตัวเองได้อย่างทันท่วงที โอกาสรอดชีวิตย่อมมีสูงตามไปด้วย

การเอาตัวรอดจากการจมน้ำ แม้ว่ายน้ำไม่เป็น

1.ตั้งสติ
เมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันสิ่งสำคัญ คือ ตั้งสติ เมื่ออยู่ในสถานการณ์จมน้ำและไม่สามารถว่ายน้ำเข้าฝั่งได้ ให้พยายามกวาดสายตามองสิ่งรอบๆ หากมีอะไรที่ลอยได้ให้พยายามเอื้อมไปเกาะไว้ก่อนแล้วมองหาแสงสว่างที่ผิวน้ำ ในขณะที่รอความช่วยเหลืออยู่นั้นอย่าตื่นตระหนก แล้วพยายามปลดเปลื้องเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่หนาหนักออกไปเพราะจะพาให้เราจมน้ำเร็วยิ่งขึ้น
หากโดยสารอยู่บนเรือที่กำลังล่ม ให้รีบออกจากเรือให้เร็วที่สุด โดยว่ายน้ำให้ออกห่างจากเรือให้ได้มากที่สุด เพราะกระแสน้ำอาจดูดเราเข้าไปใต้ท้องเรือจนจมน้ำเสียชีวิตได้ หรือเรืออาจพลิกคว่ำมาทับตัวเราได้

2.พยายามลอยตัวในน้ำ
ไม่ว่าจะว่ายน้ำเป็นหรือไม่ก็ตาม การลอยตัวอยู่นิ่งๆ ที่ผิวน้ำจะเป็นทักษะหนึ่งที่ช่วยให้รอดชีวิตเมื่อจมน้ำ ทุกคนสามารถลอยตัวในน้ำได้ เพราะความหนาแน่นของร่างกายมีน้อยกว่าน้ำ โดยใช้กำลังให้น้อยที่สุด เมื่อหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอด ปอดก็จะเป็นเสมือนชูชีพพยุงเราไว้ไม่ให้จมน้ำ การที่บางคนไม่สามารถลอยตัวได้ ก็เป็นเพราะมีการเกร็งส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย

การลอยตัวมี 2 แบบ คือ
1.ลอยตัวในน้ำ ในกรณีที่ไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ/เสื้อพยุงตัว - ให้อยู่ในท่านอนหงายให้ปากและจมูกโผล่พ้นน้ำเพื่อหายใจได้ ปล่อยตัวตามธรรมชาติ อย่าเกร็งตัว หายใจเอาอากาศเข้าปอด ถีบขาคล้ายๆ ท่ากบ และใช้มือพุ้ยน้ำเบาๆ จะช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำและเคลื่อนที่ไปได้ - ลอยตัวด้วยท่าลูกหมาตกน้ำ แขนและขากวักน้ำเข้าหาตัวเองโดยสลับขาซ้ายขวา และย่อเหยียดเข่าซ้ายขวาสลับกับทิศทางของแขนและมือ เหมือนท่าที่หมาใช้ว่ายน้ำ พยายามให้ศีรษะอยู่พ้นน้ำไว้ - กางแขนกางขาเป็นรูปปลาดาว หากมองเห็นผิวน้ำ พยายามบังคับตัวเองให้ยืดแขนขากางออกโดยให้ใบหน้าหงายขนานไปกับผิวน้ำ อยู่นิ่งๆ ตัวจะลอยขึ้นผิวน้ำได้ - ถ้ามองไม่เห็นอะไรเลย พยายามใช้แขนทั้งสองข้างกวาดน้ำรอบๆ ตัว ยืดขาตรงตีขา ถ้ารู้สึกว่าตัวกำลังลอยในน้ำ หยุดขยับร่างกายแล้วทำท่าปลาดาวนอนหงาย เพื่อให้ร่างกายลอยขึ้นเหนือผิวน้ำ

2.ลอยตัวในน้ำ ในกรณีที่สวมเสื้อชูชีพ/เสื้อพยุงตัว เสื้อชูชีพ/เสื้อพยุงตัว จะช่วยให้ร่างกายของเราลอยเหนือผิวน้ำได้ง่ายกว่าปกติ ขอเพียงอยู่นิ่งๆ แขนและมือเกาะเสื้อเอาไว้แน่นๆ อีกไม่นานร่างกายจะลอยขึ้นมาอยู่เหนือผิวน้ำได้แน่นอน

3.ประคองตัว หลบหลีกสิ่งกีดขวาง
ปล่อยให้ตัวลอยไปตามกระแสน้ำจะทำให้ร่างกายไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป และมีโอกาสรอดได้มากกว่าการพยายามว่ายทวนกระแสน้ำ ใช้แขนกวาดน้ำข้างตัวเพื่อประคองตัวให้ลอยน้ำอยู่ตลอด เหยียดขาตรงเพื่อคอยถีบสิ่งกีดขวาง พยายามไม่ลอยเข้าไปในกลุ่มผักตบชวา เพราะมีโอกาสที่รากและกิ่งของพืชจะพันขาเราได้ ประคองตัวมุ่งหน้าไปในทิศทางที่คาดว่าใกล้ฝั่งมากที่สุด ถ้ามองไม่เห็นฝั่งมองไปรอบๆ ตัวอยู่ตลอดเวลา มีสิ่งกีดขวาดที่กำลังจะลอยไปชนหรือไม่

ในกรณีที่เข้าใกล้สะพาน กระแสน้ำจะหมุนวน และมีความเชี่ยวมาก ต้องระวังให้ดี เป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเกาะคอสะพาน เพราะหากกระแสน้ำแรงอาจยิ่งเป็นอันตรายได้

4. มองหาความช่วยเหลือ
เมื่อลอยตัวในน้ำแล้ว ให้มองหาสิ่งที่จะช่วยเหลือเราได้ มองหาคน เรือลำอื่นๆ และตะโกนขอความช่วยเหลือ หากมีนกหวีดที่เสื้อชูชีพ ควรเป่านกหวีดให้ส่งเสียงดังออกมา โดยเป่าให้เสียงผิดปกติไปจากเดิม คนจะได้สนใจ

5.รอขอความช่วยเหลือ
หากพยายามมองหาสิ่งมีชีวิต มองหาเรือ มองหาทุกๆ อย่างแล้วไม่มีอะไรที่สามารถให้ความช่วยเหลือเราได้เลย ขอให้พยายามลอยตัวเหนือน้ำ ไหลตามน้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอสัญญาณที่ดี เช่น เห็นเรือ คน หรือเริ่มมองเห็นฝั่ง ค่อยพยายามตีขา ใช้แขนว่ายน้ำหรือตีกรรเชียงเข้าฝั่ง หรือไปในทิศทางที่คาดว่าจะเจอเรือหรือคนบนเรือได้มากที่สุด

สิ่งสำคัญ คือ การสวมเสื้อชูชีพ หรือ เสื้อพยุงตัวทุกครั้งที่ลงเรือ รัดตัวล็อกทุกจุดเพื่อไม่ให้เสื้อชูชีพหลุดได้ ตรวจสภาพชูชีพให้พร้อมใช้งาน ยิ่งมีนกหวีดยิ่งเพิ่มความปลอดภัย เพราะเสื้อชูชีพจะสามารถพยุงตัวผู้ประสบเหตุได้ 3-6 ชั่วโมง แต่หากเป็นเสื้อชูชีพคุณภาพดีจะสามารถลอยตัวได้นานเป็นวัน

ที่มา :
(1) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ https://bit.ly/3hfIupp
(2) sanook https://bit.ly/36wKIPa
(3) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข https://bit.ly/3pitGe7


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท