Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ดนตรีกับการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคน


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

12-07-2023 16:22

เป็นที่ทราบกันดีว่าดนตรีไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือสไตล์ใดก็ตาม องค์ประกอบของเสียงดนตรีสามารถเชื่อมต่ออารมณ์ของเราได้ ไม่ ว่าจะเป็น สนุกสนาน สร้างแรงบันดาลใจ ปลอบโยน หรือ ผ่อนคลายความเครียดจากเรื่องราวต่างๆ ที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน ดนตรีจึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆเมื่อเราต้องการพักผ่อนหรือลดความรู้สึกเชิงลบที่อาจจะเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว

ภาพประกอบเคส

เป็นที่ทราบกันดีว่าดนตรีไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือสไตล์ใดก็ตาม องค์ประกอบของเสียงดนตรีสามารถเชื่อมต่ออารมณ์ของเราได้ ไม่ว่าจะเป็น สนุกสนาน สร้างแรงบันดาลใจ ปลอบโยน หรือ ผ่อนคลายความเครียดจากเรื่องราวต่างๆ ที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน ดนตรีจึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆเมื่อเราต้องการพักผ่อนหรือลดความรู้สึกเชิงลบที่อาจจะเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว

วันนี้เรามาทำความรู้จักกับดนตรีให้มากขึ้นว่านอกจากประโยชน์ในด้านสันทนาการแล้วนั้น ดนตรีสามารถเป็นส่วนหนึ่งการสร้างสุขภาวะที่ดีได้อย่างไรบ้าง

1. อารมณ์มั่นคง (Emotional Stability) ดนตรีสามารถช่วยให้เรารับรู้ถึงความรู้สึกของตัวเองทั้งด้านบวกหรือลบ ผ่านองค์ประกอบของดนตรีไม่ว่าจะเป็น จังหวะ คุณลักษณะของเสียงที่แตกต่างกันไปของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด เช่น เสียงเปียโนอาจสื่อถึงอารมณ์ผ่อนคลาย ในขณะที่เสียงเครื่องสายอย่าง เช่น เชลโล่ อาจจะให้ความรู้สึกสุขุม หนักแน่น หรือ อบอุ่น ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้เองที่จะช่วยให้เราสามารถจัดการความรู้สึกของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
2. ความสัมพันธ์เชิงบวก (Positive Relationship) เราสามารถใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน คนรัก ผู้ร่วมงาน หรือเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนใหม่ เสียงดนตรีจะช่วยเชื่อมต่อความรู้สึก แบ่งปันความคิดเห็นหรือช่วยลดความขัดแย้งโดยใช้กิจกรรมด้านดนตรีเข้ามาช่วย เช่น ร้องเพลง เล่นดนตรีตามที่ตนเองถนัดร่วมกัน ถึงแม้อาจจะไม่มีทักษะด้านดนตรี เพียงแค่เรามีส่วนร่วมโดยการปรบมือ ฮัมเพลง หรือโยกตัวไปมาตามจังหวะของเสียงเพลง ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่สามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีได้
3. สร้างคุณค่าชีวิต (Value in Life) อายุและประสบการณ์ที่มีในแต่ละช่วงวัย ย่อมมีผลในการให้ความหมายคุณค่าของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้นการเลือกเพลงหรือรสนิยมในการฟังเพลงจึงอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาเช่นกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือดนตรีสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เรานิยามความหมายหรือคุณค่าของชีวิตได้ชัดเจนมากขึ้นในแต่ละช่วงชีวิต
4. เสริมสร้างสมาธิ (Concentration) หลายๆคนเลือกใช้ดนตรีเพื่อสร้างสมาธิเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน หรือแม้กระทั่งช่วยให้นอนหลับ จึงเห็นได้ว่าดนตรีมีส่วนช่วยให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย และมีพื้นที่ในการตัดสินสินใจได้ดียิ่งขึ้น
5. เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม (Engagement) บางครั้งดนตรีได้ถูกนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรต่าง เพื่อให้ทุกคนเสมือนเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในโอกาสใด เช่น ต้อนรับสมาชิกใหม่หรือมองหาทางออกร่วมกันในกรณีที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติ เสริมสร้างพลังบวกและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
6. ทัศนคติเชิงบวก (Optimism) ความหลากหลายและมิติของเสียงดนตรี สามารถเชื่อมโยงกับอารมณ์ ความรู้สึกเชิงบวกที่เน้นการให้กำลังใจหรือปลอบโยนได้กับทุกๆคนแม้แต่บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางเช่น ผู้สูงวัยที่กำลังเผชิญกับสภาวะซึมเศร้า เด็กๆที่ประสบกับเหตุการณ์รุนแรงทางทั้งทางร่างกายและจิตใจ เราสามารถเลือกใช้ดนตรีเพื่อปลอบโยนและให้กำลังใจหลังจากผ่านเหุการณ์อันเลวร้ายนั้น
7. เห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) การมีส่วนร่วมในกิจกรรมดนตรีแม้เพียงเล็กน้อย จะช่วยให้เราเริ่มมองเห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่น ยิ่งเรามองเห็นคุณค่าในตัวเองเท่าไร เราก็จะยิ่งสามารถรับมือความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมจากคนอื่นที่มองมาที่เราได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากเรามีพื้นฐานทางอารมณ์ที่มั่นคงและเข้มแข็งจากภายใน
8. สุขภาพกาย (Physical Health) ดนตรีสามารถเชื่อมโยงกับร่างกายได้โดยอัตโนมัติ เช่น การร้องหรือฮัมเพลง ปอดจะมีการขยายตัวเข้าออกเพื่อปรับการไหลเวียนออกซิเจนในร่างกาย หรือการขยับร่างการเคลื่อนไหวไปมาก็เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะดนตรีหรือเต้นรำไปพร้อมกับเสียงเพลง

เราจะเห็นได้นอกจากประโยชน์ด้านความเพลิดเพลินแล้วนั้น ดนตรียังช่วยให้เราทุกคนสร้างความสมดุลที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญในการใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุขในแบบของตัวเอง

ในบทความต่อไป เราจะมาพูดถึงดนตรีบำบัดว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไรและเหมาะกับใครบ้าง

บทความโดย
ดร.ชนารี เลาหะพงษ์พันธ์
นักจิตวิทยาบำบัด ด้านดนตรีบำบัดด้วยเทคนิค GIM/MI
ผู้ก่อตั้งเพจ Music & Mind
ผู้อำนวยการหลักสูตร Special Learning Unit (SLU), The Ivy School.

ข้อมูลอ้างอิง
Hallam S. (2019). The Psychology of Music. Routledge. New York. United States of America.


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท