อาการอ่อนเพลีย เป็นโรคหรือไม่
หมวดหมู่หลัก: ฟรีแลนซ์
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
29-04-2023 09:25
อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า บางครั้งก็เกี่ยวข้องกับอาหารที่กินด้วย เมื่อร่างกายขาดสารอาหารบางอย่างก็ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เซื่องซึม หรือเหนื่อยล้าได้ เช่น ขาดพลังงาน ขาดโปรตีน ขาดวิตามินบี หรือธาตุเหล็ก เป็นต้น
อาการอ่อนเพลียเป็นอาการทางร่างกายและจิตใจที่พบได้บ่อย ๆ ซึ่งมีทั้งที่เกิดจากโรคและที่ไม่ใช่โรค เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ตรากตรำทำงานหนัก อากาศที่ร้อนจัด วิตกกังวล เครียด ขาดสารอาหาร หรืออาจเกิดจากโรค เช่น โรคติดเชื้อ หรือเจ็บป่วยอื่น ๆ กรณีอ่อนเพลียที่ไม่พบอาการผิดปกติอื่นใดและพอจะหาสาเหตุได้ เช่น นอนน้อยเกินไป มีภาวะเครียด การจำกัดอาหาร อย่างนี้ให้แก้ไขที่สาเหตุ ปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตใหม่ พยายามผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ โดยที่ยังไม่ต้องไปพึ่งน้ำเกลือหรือยาบำรุงใด ๆ เพราะ "อาการบางอย่างไม่ใช่โรค" และ "โรคบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา"
อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า บางครั้งก็เกี่ยวข้องกับอาหารที่กินด้วย เมื่อร่างกายขาดสารอาหารบางอย่างก็ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เซื่องซึม หรือเหนื่อยล้าได้ เช่น ขาดพลังงาน ขาดโปรตีน ขาดวิตามินบี หรือธาตุเหล็ก เป็นต้น
ดังนั้น คนที่จำกัดการกินอาหารหรือพยายามลดน้ำหนัก จะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องกินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน ร่างกายจะเกิดสมดุล กล้ามเนื้อแข็งแรง ภูมิคุ้มกันดีขึ้น นอกจากนี้ควรกินปริมาณพอดี ไม่มากไปหรือน้อยไป งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดอาหารพวกไขมันแปรรูป ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 8 แก้ว เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อ่อนเพลียได้เช่นกัน
นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจให้สบาย หลีกเลี่ยงความเครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทำให้กล้ามเนื้อและระบบเผาผลาญทำงานดี
สำหรับอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าแบบเรื้อรัง ชนิดที่ว่าไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ พักผ่อนหรือปรับปรุงวิถีชีวิตแล้วก็ยังไม่หาย จัดเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง วินิจฉัยค่อนข้างยาก ตามตำราจะเรียกอาการแบบนี้ว่า โครนิกฟาทีกซินโดรม (chronic fatigue syndrome-CFS) ซึ่งมักจะอ่อนเพลียมานาน ส่วนใหญ่จะมากกว่า 6 เดือน และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ เจ็บคอ มีไข้ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เป็นต้น
โรคนี้พบได้ไม่บ่อย สาเหตุนั้นยังไม่แน่ชัด โดยอาจเป็นผลมาจากโรคติดเชื้อเรื้อรัง ขาดสารอาหาร ขาดฮอร์โมนบางอย่าง หรือเกิดจากภาวะเครียดเรื้อรัง เป็นต้น การรักษานั้นต้องใช้ทั้งยา โภชนบำบัด และปรับวิถีชีวิตให้สมดุล
แต่สำหรับอาการอ่อนเพลียที่พบอยู่บ่อย ๆ นั้น มักจะไม่ใช่เกิดจากโรคหรือความเจ็บป่วย ส่วนใหญ่เกิดจากการมีวิถีชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เช่น พักผ่อนน้อย ตรากตรำทำงาน กินอาหารไม่เพียงพอ ความเครียด เป็นต้น ดังนั้นวิธีการรักษาจึงอยู่ที่การแก้ไขสาเหตุมากกว่าการพึ่งพายาหรือน้ำเกลือเพื่อบำรุงกำลัง
ที่มา : สสส.
https://www.thaihealth.or.th/?p=229453