Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

โรคดึงผม ภาวะเครียดไม่รู้ตัว


หมวดหมู่หลัก: ฟรีแลนซ์

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

29-04-2023 09:21

โรคดึงผม (Trichofillomania) ที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาการทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษา เนื่องจากโรคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพและสภาวะจิตใจ

ภาพประกอบเคส

โรคดึงผม (Trichofillomania) ที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาการทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษา เนื่องจากโรคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพและสภาวะจิตใจ เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีผมบางจากการดึงผมหรือขนบริเวณเดิมซ้ำหลายครั้งปัจจุบันจัดอยู่ในอาการทางจิตเวชกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ พบได้ทั้งเพศชายและหญิง โดยผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวขณะมีพฤติกรรมดึงผม เนื่องจากช่วยคลายความเครียดหรือความกังวล มักจะดึงระหว่างทำกิจกรรมอื่น ๆ อยู่ เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ ทำงาน เป็นต้น เป็นการกระทำแบบเผลอที่ไม่รู้ตัวและไม่ได้ตั้งใจ

ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคดึงผม

  • โรคทางจิตเวชบางอย่าง เช่น วิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ
  • การเป็นโรคซึมเศร้า
  • พันธุกรรม อาจมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคดึงผมเหมือนกัน
  • ความผิดปกติทางสมองและสารเคมีในสมอง สมาธิสั้น
  • มีความเครียด หรือมีปัญหาทางด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

อาการ

  • ผมร่วงเป็นหย่อม โดยมีรูปร่างประหลาดหรือขอบมีความขรุขระ
  • อาจพบรอยแกะเกาที่หนังศีรษะ ใบหน้า หรืออาการกัดเล็บร่วมด้วย
  • หย่อมผมร่วงมักพบอยู่ด้านเดียวกับมือข้างถนัด นอกจากนั้นยังพบได้กับขนตามร่างกาย เช่น ขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ เป็นต้น
  • จัดเป็นภาวะผมร่วงชนิดไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีการดึงผมอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

การรักษา

  • แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของโรค โดยผมที่ร่วงจะขึ้นใหม่ได้หากหยุดดึงผม
  • หากมีความผิดปกติของผิวหนัง เช่น คันหนังศีรษะ หนังศีรษะอักเสบแพทย์จะให้การรักษาด้วยการให้ยาตามความเหมาะสม ได้แก่ ยาชนิดทายาชนิดฉีด หรือการใช้ยาสระผมลดอาการอักเสบของหนังศีรษะ
  • หากผู้ป่วยยังไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ อาจพิจารณาให้ยาชนิดรับประทานหรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรักษาและคลายความเครียดที่อาจเป็นสาเหตุของการดึงผม

วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนอื่นต้องให้ผู้ป่วยรู้ตัวก่อนว่าเป็นโรคชอบดึงผม โดยเฉพาะในกรณีที่ดึงโดยไม่รู้ตัว เพื่อให้ผู้ป่วยควบคุมพฤติกรรมของตัวเอง แต่อย่าใช้วิธีการดุว่าหรือตำหนิแรง ๆ ให้ใช้วิธีเตือนให้เหมาะสม เพราะถ้าหากใช้อารมณ์ในการตำหนิ ผู้ป่วยอาจจะยิ่งดึงผมมากขึ้นก็ได้

ที่มา :
1.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย https://bit.ly/40RdKzs
2.คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล https://bit.ly/3Vhi3TF


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท