Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ยืนทำงาน เทรนด์สุขภาพ ลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง


หมวดหมู่หลัก: ฟรีแลนซ์

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

29-04-2023 09:15

การทำงานในท่ายืน ได้รับความสนใจมากขึ้น เฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดังในหมวดห้องทำงาน เริ่มมีการวางจำหน่ายโต๊ะ ที่จะทำให้คนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ได้ยืนขณะทำงาน จนเกิดข้อสงสัยที่ว่า ยืนทำงาน ดียังไง? มาดูคำตอบกัน

ภาพประกอบเคส

การทำงานในท่ายืน ได้รับความสนใจมากขึ้น เฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดังในหมวดห้องทำงาน เริ่มมีการวางจำหน่ายโต๊ะ ที่จะทำให้คนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ได้ยืนขณะทำงาน จนเกิดข้อสงสัยที่ว่า ยืนทำงาน ดียังไง? มาดูคำตอบกัน

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย Thailand Physical Activity Knowledge Development Centre (TPAK) โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอว่า การยืนทำงานเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมทางเลือกที่จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคภัยต่าง ๆ ได้ ที่สำคัญ สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และปรับปรุงการไหลเวียนโลหิตในร่างกายได้ดีขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อได้มีจังหวะยืดเหยียด

เนื่องจากพบปัญหาด้านสุขภาพของประชากรวัยแรงงาน ที่มีพฤติกรรมการนั่งเนือยนิ่งที่โต๊ะทำงาน หรือต้องนั่งอยู่กับหน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานในแต่ละวัน บางคนนั่งต่อเนื่องตั้งแต่เช้ายันเย็น ไม่มีจังหวะได้ลุกหรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถมากนัก แม้แต่การลุกเดินไปเข้าห้องน้ำ ก็ยังถูกงานอันเร่งด่วนสะกดไว้อยู่กับที่ตลอดเวลา เฉลี่ยแล้วคนไทยมีพฤติกรรมนั่งทำงานต่อเนื่องติดหน้าจอมากถึงประมาณ 11.5 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ อาทิ โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม การเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งทำงานสลับมาเป็นยืนทำงาน สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดสุขภาพและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าวได้ การยืนทำงานจึงเสมือนการเพิ่มความสมดุลระหว่างการยืนกับการนั่งตลอดทั้งวัน อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ คือ การได้หยุดพักเพื่อเคลื่อนไหวเมื่อรู้สึกว่านั่งนิ่งนานจนเกินไป

ทั้งนี้ มีหลักฐานเชิงวิชาการชี้ชัดว่า การยืนทำงานมีอัตราการเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่าการนั่งทำงานสูงถึง 10% นั้นหมายความว่า หากสลับลุกขึ้นยืนเพื่อทำงานปนกับการนั่งบ้างในแต่ละวัน จะเพิ่มโอกาสให้สามารถเผาผลาญพลังงานในร่างกายในแต่ละวันได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิผลในการทำงานได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

จากการศึกษาในกลุ่มพนักงานคอลเซ็นเตอร์ พบว่าในกลุ่มพนักงานที่มีโต๊ะทำงานแบบยืนนั้น จะมีประสิทธิผลของการทำงานเพิ่มขึ้นสูงถึง 45% ต่อวัน เมื่อเทียบกับพนักงานที่นั่งเพียงอย่างเดียว เนื่องจากพนักงานที่ยืนทำงานมีการเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานในลักษณะต่าง ๆ และมีการเคลื่อนไหวมากกว่ากลุ่มพนักงานที่นั่งทำงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยลดการปวดกล้ามเนื้อช่วงบ่า คอ ไหล่ ทำให้มีสมาธิในการทำงานที่สูงขึ้น อีกทั้งการเคลื่อนไหวร่างกายที่มากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกิดจากการนั่งนิ่ง ๆ หรือมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานให้สูงมากขึ้นได้อีกด้วย

ในแต่ละวันของการทำงาน ควรมีการลุกขึ้นเพื่อทำงานหรือทำกิจกรรมในท่ายืนอย่างน้อย ๆ 2-3 ครั้งต่อวัน โดยมีระยะเวลาในการยืนประมาณ 30 นาทีต่อครั้ง ซึ่งจะช่วยลดจำนวนนาทีของพฤติกรรมเนือยนิ่งลงได้ในแต่ละวัน อีกทั้งยังเพิ่มอัตราการเผาผลาญไขมันส่วนเกินในร่างกายได้เป็นอย่างดีจากการยืน การเผาผลาญพลังงานในปริมาณเพิ่มขึ้นทำให้มีโอกาสที่จะเดินไปหยิบน้ำมาดื่ม หรือเดินไปเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่ายของเหลวได้บ่อยยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีโอกาสได้ยืดเหยียดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อจากการถูกกดทับในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานาน ๆ ช่วยให้ระบบไหลเวียนของโลหิตทำงานได้ดีขึ้น

ที่มา : เครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อเด็กและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

https://bit.ly/3L3TLro


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท