อากาศร้อนจัดสาเหตุ “ไมเกรน” กำเริบ
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
22-04-2023 18:32
นอกจากโรคลมแดด หรือ Heat Stroke ที่มาพร้อมกับอากาศที่ร้อนจัดแล้ว ยังมีอาการบางอาการที่มีโอกาสจะกำเริบได้ ถ้าอากาศร้อนจัดจนเกินไป นั่นก็คือ อาการปวดหัวข้างเดียว ที่เรียกว่า “ไมเกรน”
นอกจากโรคลมแดด หรือ Heat Stroke ที่มาพร้อมกับอากาศที่ร้อนจัดแล้ว ยังมีอาการบางอาการที่มีโอกาสจะกำเริบได้ ถ้าอากาศร้อนจัดจนเกินไป นั่นก็คือ อาการปวดหัวข้างเดียว ที่เรียกว่า “ไมเกรน”
มีงานวิจัยหลายชิ้นให้ข้อมูลตรงกันว่า อากาศที่ร้อนเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 องศา จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการไมเกรนกำเริบเพิ่มขึ้นถึง 7.5% โดยสาเหตุมาจากการที่หลอดเลือดแดงในสมองเกิดการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
อาการปวดศีรษะเพราะอากาศร้อน หรืออยู่กลางแดดนานๆ เป็นการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ (Primary Headache) โดยจะมีอาการปวดตุบๆ และมักเป็นข้างเดียว ในบางคนอาจมีอาการปวดร้าวบริเวณกระบอกตาและมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย อาการดังกล่าวจะกำเริบขึ้นเมื่อมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้นโดยอากาศร้อน หรือการอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน
และแม้จะดูเหมือนว่าเป็นอาการปวดหัวธรรมดาๆ แต่อาการปวดไมเกรน จัดเป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่ง ซึ่งยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่เชื่อว่าเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ส่งผลให้หลอดเลือดมีความไวต่อปัจจัยหรือสิ่งกระตุ้นต่างๆมากเป็นพิเศษ ทำให้เกิดการหด และขยายตัวของหลอดเลือดอย่างผิดปกติ
ปัจจัยกระตุ้นอาการปวดไมเกรน
- อากาศร้อน โดยอากาศร้อนจัดที่มีสภาพความกดอากาศต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดสมองขยายตัว เกิดการหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน เมื่อระดับเซโรโทนิน “เพิ่มสูงขึ้น” ทำให้การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซ็กคล้ายฟันเลื่อย อาจจะมีหรือไม่มีสี มองเห็นภาพมืดเป็นบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด และเมื่อระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน “ลดต่ำลง” หลอดเลือดสมองจะเกิดการบวมและอักเสบเป็นสาเหตุให้อาการปวดหัวไมเกรนกำเริบได้
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ งานวิจัยทางการแพทย์จำนวนมาก ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็น พายุ อุณหภูมิ และการเปลี่ยนแปลงสภาพความกดอากาศล้วนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเซโรโทนินและสารเคมีในสมอง ทำให้ผู้ป่วยไมเกรนประมาณครึ่งหนึ่ง เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้มากขึ้น
- ความสว่างและความเข้มของแสงแดดในช่วงฤดูร้อน โดยแสงแดดจะเดินทางผ่าน จอประสาทตา (Retina) และเส้นประสาทตา (Optic nerve) ไปกระตุ้นเซลล์ประสาทที่บอบบางในสมอง
- รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet radiation) จากดวงอาทิตย์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีในชั้นผิวหนังทำให้หลอดเลือดขยายตัว จนทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งนอกจากสภาพอากาศที่ร้อนแล้วยังมีปัจจัยอื่นที่กระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรนได้ เช่น อาหารและเครื่องดื่มบางชนิด อารมณ์ สภาพร่างกาย การใช้ยาบางชนิด การดื่มน้ำและพักผ่อนไม่เพียงพอ
หลีกเลี่ยงการ ปวดหัวไมเกรน ท่ามกลางอากาศร้อนได้อย่างไร
- การหลบเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแสงแดดจัด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 09.00-16.00 น.
- หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกช่วงที่อากาศร้อน ควรกางร่ม สวมหมวก หรือแว่นกันแดด
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ร้อนและแออัด มีผู้คนจำนวนมาก ที่ทำให้อากาศหายใจไม่เพียงพอ
- ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อช่วยคลายความร้อน การดื่มน้ำที่เพียงพอจะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวและปวดไมเกรนได้
หากพยายามหลีกเลี่ยงทุกอย่างแล้วแต่ยังมีอาการอยู่ ให้รับประทานยาแก้ปวด ใช้ผ้าเย็นประคบบริเวณหน้าผากหรือต้นคอเพื่อบรรเทาอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน และใช้เวลาสุดสัปดาห์ในการพักผ่อนอย่างเต็มที่ รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยเฉพาะอาหารมื้อเช้า ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดศีรษะจากไมเกรนติดต่อกันนานเกิน 3-4 วัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการ และรักษาต่อไป
ที่มา : thairath
https://bit.ly/3KU7wJn