Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

น้ำมันหอย ใช้แต่น้อย อร่อยแบบสุขภาพดี


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

22-04-2023 18:00

น้ำมันหอย เป็นชื่อเรียกอีกชื่อของ “ซอสหอยนางรม” ถูกจัดเป็นเครื่องปรุงอาหารชนิดหนึ่งที่มีความแพร่หลายในการใช้งาน สามารถใส่อาหารได้ในหลายเมนู เช่น มัสมั่น แกงเขียวหวาน น้ำพริก ก๋วยเตี๋ยว แกงจืดหรือเมนูไข่ต่าง ๆ

ภาพประกอบเคส

น้ำมันหอย เป็นชื่อเรียกอีกชื่อของ “ซอสหอยนางรม” ถูกจัดเป็นเครื่องปรุงอาหารชนิดหนึ่งที่มีความแพร่หลายในการใช้งาน สามารถใส่อาหารได้ในหลายเมนู เช่น มัสมั่น แกงเขียวหวาน น้ำพริก ก๋วยเตี๋ยว แกงจืดหรือเมนูไข่ต่าง ๆ

ต้นกำเนิดของน้ำมันหอยหรือซอสหอยนางรมนี้ คาดว่ามาจากประเทศจีน โดยเชื่อว่ามีชาวกวางตุ้งได้สังเกตถึงคุณสมบัติเฉพาะของกลิ่นหอยนางรมและนำมาหมักกับน้ำตาล เกลือ ซีอิ๊วเพื่อสร้างสรรค์ให้ออกมาเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารที่มีกลิ่นหอมและรสชาติเฉพาะตัว จึงมีการใช้งานนับตั้งแต่นั้นมา ซึ่งแม้จะไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแน่ชัดว่า น้ำมันหอยนี้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด แต่มีข้อมูลว่าก่อนหน้านี้คนไทยนิยมใช้ซีอิ๊วและน้ำปลาในการปรุงรสอาหารเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน น้ำมันหอยเข้ามาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของอาหารหลาย ๆ จาน อาทิ ผัดผักน้ำมันหอย หมูผัดน้ำมันหอย หรือเมนูอื่น ๆ

ลักษณะของน้ำมันหอย จะมีเนื้อสัมผัสค่อนข้างข้น สีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติเค็มหวาน ทำให้อาหารรสชาติกลมกล่อมมากขึ้น นิยมใช้กับอาหารจีน โดยเฉพาะอาหารผัดหลาย ๆ เมนู

การเลือกซื้อน้ำมันหอย นอกจากพิจารณาบรรจุภัณฑ์ว่าไม่มีรอยแตก บุบหรือรั่วแล้ว ลักษณะของน้ำมันหอยควรมีความข้นหนืด ไม่แยกชั้นและมีสีที่สม่ำเสมอ ไม่มีกลิ่นอับ หืนหรือเปรี้ยว

ข้อควรระวัง ผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารกลุ่มอาหารทะเล หอย อาจต้องพิจารณาเพื่อเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอย เพื่อป้องกันอันตรายจากการแพ้อาหารที่รุนแรงได้

น้ำมันหอยหรือซอสหอยนางรม แม้จะผลิตจากการหมักหอยนางรม แต่สารอาหารนั้นแตกต่างจากการบริโภคหอยนางรมโดยตรงอย่างสิ้นเชิง การบริโภคหอยนางรมสดนั้น จะได้รับโปรตีน สังกะสีและแร่ธาตุอื่น ๆ ไปด้วย โดยหอยนางรมขนาดกลาง (เนื้อหนัก 50 กรัม) จะมีโปรตีนเกือบ 5 กรัม ไขมันเพียง 1 กรัมและคาร์โบไฮเดรตประมาณ 3 กรัม ซึ่งเพียงตัวเดียวก็ให้วิตามิน B12 ครบตามความต้องการของร่างกายในแต่ละวันแล้ว และยังมีสังกะสีที่เป็นแร่ธาตุจำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกันและผิวหนังอีกด้วย แต่ซอสหอยนางรมจะมีสารอาหารเพียงโซเดียมเป็นหลัก ไขมัน โปรตีน แร่ธาตุที่มีเป็นแหล่งหลักอย่างสังกะสีเองก็มีน้อยมาก นักกำหนดอาหารจึงไม่แนะนำให้บริโภคซอสหอยนางรมในฐานะแหล่งของสังกะสี และยังควรระวังปริมาณโซเดียมอีกด้วย

แนวทางในการบริโภคน้ำมันหอยให้เหมาะสม เริ่มต้นจากการ “ตวงปริมาณที่ใช้งาน” ทดแทนการเทน้ำมันหอยแบบกะปริมาณ เพราะเราจะไม่สามารถกำหนดปริมาณโซเดียมที่ต้องการได้เลย

ค่าเฉลี่ยของโซเดียมในซอสหอยนางรมจะอยู่ที่ 670 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม) ซึ่งหากเป็นการปรุงอาหารให้กับสมาชิกในครอบครัวที่มี 3-4 คน ก็อาจแนะนำให้ใช้น้ำมันหอยสำหรับผัดผักไม่เกิน 2-3 ช้อนโต๊ะ เพราะอย่าลืมว่าเรายังมีกับข้าวอื่นๆ ที่มีการปรุงรสชาติอีก และอาจทำให้สมาชิกในครอบครัวได้รับโซเดียมมากเกินไปได้

เคล็ดลับในการใช้น้ำมันหอยให้ดีต่อสุขภาพ

  1. ใช้น้ำมันหอยด้วยการตวงปริมาณ เช่น ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะต่อกับข้าวหนึ่งเมนู ก็จะทำให้รู้ปริมาณที่ใช้จริง และปรับลดได้ในการปรุงครั้งถัดไป ไม่ให้มากเกินไปหรือกินเกินโดยไม่รู้ตัว
  2. เน้นการใช้เครื่องเทศ สมุนไพรเพื่อใช้ชูรสชาติและกลิ่นของอาหารเป็นหลัก และใช้น้ำมันหอยเป็นส่วนประกอบหนึ่งของกลิ่นและรสชาติก็พอ อย่าเน้นการใช้น้ำมันหอยมากเกินไป (และแน่นอนว่าอย่าลืมตวงทุกครั้งที่ใช้)
  3. หากมื้อไหนที่ใช้น้ำมันหอยแล้ว ให้คำนึงถึงปริมาณการใส่เครื่องปรุงอื่นๆ ที่มีโซเดียม โดยควรใช้ลดลงไปด้วย เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว เกลือ เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับโซเดียมมากเกินไป
  4. เมนูที่ใช้น้ำมันหอยส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยผักนานาชนิด แนะนำให้เพิ่มปริมาณผักในเมนูนั้น ๆ ด้วย เพื่อให้มีความหลากหลาย และได้คุณค่าทางโภชนาการจากผักได้อย่างเต็มที่
  5. เมนูใดที่ใช้น้ำมันหอย (หรือเครื่องปรุงต่าง ๆ) แนะนำให้เน้นกินเนื้อสัตว์และผัก หลงเหลือน้ำที่เกิดจากการผัดเอาไว้ ลดหรือเลี่ยงการนำมาราดบนข้าว เพื่อลดปริมาณโซเดียมที่อาจได้รับลง และดีต่อสุขภาพ

แม้น้ำมันหอยจะเป็นเครื่องปรุงที่พบได้ทั่วไปในครัว ตลาดต่าง ๆ ตลอดจนซูเปอร์มาร์เกตในห้างสรรพสินค้า แต่การเลือกใช้ปรุงอาหารอย่างเหมาะสมก็ถือว่าเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพที่ดีและควรปฏิบัติจนเป็นนิสัยนั่นเอง

ที่มา : เครือข่ายคนไทยไร้พุง
https://bit.ly/3GQnBP5


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท