"คำขอโทษ" พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กพูดจนเป็นนิสัย
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
22-04-2023 16:50
เมื่อลูกทำผิดและลูกไม่ยอมพูดคำว่า “ขอโทษ” เราจำเป็นต้องบังคับให้ลูกพูดหรือเปล่า ? การบังคับให้เด็กต้องพูดคำว่า “ขอโทษ” อาจไม่ได้ทำให้ลูกรู้สึกผิดกับการกระทำของตัวเอง แต่การบังคับให้ต้องพูด ยิ่งอาจสอนเขาให้พูดคำว่า “ขอโทษ” ไปอย่างนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นการหนีปัญหา พูดเพื่อให้เหตุการณ์นั้นผ่าน ๆ ไปก็เท่านั้น
เมื่อลูกทำผิดและลูกไม่ยอมพูดคำว่า “ขอโทษ” เราจำเป็นต้องบังคับให้ลูกพูดหรือเปล่า ? การบังคับให้เด็กต้องพูดคำว่า “ขอโทษ” อาจไม่ได้ทำให้ลูกรู้สึกผิดกับการกระทำของตัวเอง แต่การบังคับให้ต้องพูด ยิ่งอาจสอนเขาให้พูดคำว่า “ขอโทษ” ไปอย่างนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นการหนีปัญหา พูดเพื่อให้เหตุการณ์นั้นผ่าน ๆ ไปก็เท่านั้น
การฝึกให้ลูกพูดขอโทษตามพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของเด็ก
เด็กเล็กก่อน 2-3 ขวบ อาจยากสำหรับลูกที่จะรู้และเข้าใจว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือผิดจริง ๆ ดังนั้นน้อยมากที่เด็กจะรู้สึก ‘ผิด’ และเข้าใจคำว่า ‘ขอโทษ’ ต่อผู้อื่นกับการกระทำที่ทำลงไป สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพ่อแม่ก็คือ กำหนดกฎในการเล่นร่วมกับผู้อื่นอย่างชัดเจนว่าอะไรบ้างที่ควรทำ เช่น การต่อคิวรอคอย และอะไรบ้างที่ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ห้ามทำให้คนอื่นเจ็บ ห้ามเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้ทำ เมื่อทำหรือจะทำต้องจับแยกทันที
เด็กวัยกึ่งกลางระหว่าง 3-5 ขวบ เป็นวัยที่กำลังสร้าง ‘ตัวตน’ ดังนั้นวัยนี้จะเป็นวัยที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง บางคนก็ยังเหมือนเด็กเล็กที่ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่โอเค แต่บางคนก็เริ่มรู้และกล่าวคำขอโทษเป็น
เด็กโตที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีเป็นต้นไป เด็กจะสามารถเข้าใจกฎกติกามารยาทในการเล่นร่วมกันดีแล้ว และรู้แล้วว่าสิ่งที่ตนเองกระทำลงไปนั้นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เรียกสั้น ๆ ว่าเริ่มรู้จักผิดชอบชั่วดีในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นหากทำผิด เด็กในวัยนี้ควรรู้ว่าตัวเองผิด ควรรู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปทำให้คนอื่นรู้สึกอย่างไร ควรรู้ที่จะกล่าวคำขอโทษและหมายความอย่างนั้นจริง ๆ
พ่อแม่ต้องทำให้ลูกรู้จัก “ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น” ตั้งแต่เนิ่น ๆ และการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ต้องเริ่มจากความรู้สึกปลอดภัยทางอารมณ์ (Emotional Security) และการเข้าใจความรู้สึกของตนเองเป็นเสียก่อน โดยคุณพ่อคุณแม่จะเป็นคนสำคัญมากที่จะต้องให้ความสำคัญกับ ‘อารมณ์’ และ ‘ความรู้สึก’ ของลูกไม่ว่าจะเป็นการโกรธ ความเสียใจ ความหงุดหงิด ความสุขและอื่น ๆ
เมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัยได้รับการเลี้ยงดูที่อบอุ่น และรู้จักอารมณ์ของตนเองได้แล้ว เด็กจะเริ่มเข้าใจและใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น และจะเริ่มรู้ว่าการกระทำและคำพูดของเราทำให้ผู้อื่นรู้สึกอย่างไรได้
สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมเป็นตัวอย่างที่ดี ทำผิดหรือทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี ผู้ใหญ่อย่างเราก็ควรขอโทษกับการกระทำของตนเองได้เช่นกัน ทำให้คำขอโทษเป็นเรื่องที่ปกติที่พึงกระทำ ทำผิดก็ขอโทษ มันเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่โตเป็นการลงโทษหรือการจับผิดใด ๆ ในกรณีที่ลูกอายุยังน้อยและทำสิ่งที่ไม่ดีลงไป พ่อแม่ก็สามารถขอโทษแทนลูกให้เป็นตัวอย่างได้เลย โตขึ้นมาหน่อยก็อาจขอโทษพร้อมกันกับลูกก็ได้
ที่มา : ศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและครอบครัว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, (Thai PBS)
https://bit.ly/3UXWUxr