ภาวะรังที่ว่างเปล่า หรือความเหงาของวัยกลางคน
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
22-04-2023 11:46
ภาวะรังที่ว่างเปล่า (Empty nest syndrome) มักเกิดในคู่สมรสวัยกลางคน เกิดจากการเปลี่ยนบทบาทของช่วงวัย ส่งผลต่อความพึงพอใจในชีวิตและความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด วัยกลางคนส่วนใหญ่ ไม่ต้องดูแลบุตรเช่นเดิม บางครอบครัวบุตรย้ายออกจากบ้าน ทำให้เกิดความเหงา ความรู้สึกไม่มั่นคง และความเศร้าได้
ภาวะรังที่ว่างเปล่า (Empty nest syndrome) มักเกิดในคู่สมรสวัยกลางคน เกิดจากการเปลี่ยนบทบาทของช่วงวัย ส่งผลต่อความพึงพอใจในชีวิตและความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด วัยกลางคนส่วนใหญ่ ไม่ต้องดูแลบุตรเช่นเดิม บางครอบครัวบุตรย้ายออกจากบ้าน ทำให้เกิดความเหงา ความรู้สึกไม่มั่นคง และความเศร้าได้
แม้ว่า Empty Nest Syndrome จะไม่ใช่อาการเจ็บป่วยทางการแพทย์ แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้จริง โดยผู้ที่เผชิญกับภาวะนี้ มักรู้สึกโดดเดี่ยว ว่างเปล่า ขาดเป้าหมายในชีวิต วิตกกังวล และโศกเศร้า อาการอาจคงอยู่ตั้งแต่หลายสัปดาห์ จนกระทั่งเป็นปี แต่ส่วนใหญ่พบว่าผู้ที่เผชิญภาวะ Empty Nest Syndrome จะมีอาการอยู่ประมาณ 2-3 เดือน จึงจะปรับตัวให้เคยชินกับบ้านที่ว่างเปล่าได้
ภาวะ Empty Nest Syndrome 3 ระดับ
ข้อมูลจากหนังสือ Beyond the Mommy Years เขียนโดย คาริน รูเบนสไตน์ (Carin Rubenstein) แบ่งระดับขั้นของ Empty Nest Syndrome ไว้ 3 ระดับ คือ 1) โศกเศร้า : เมื่อลูกๆ โบยบินออกจากรัง อารมณ์แรกที่พ่อแม่ต้องเผชิญคือความรู้สึกโศกเศร้าและสูญเสีย ในแต่ละวัน พวกเขาอาจเสียน้ำตาง่ายๆ เพียงแค่เห็นมุมที่ลูกชอบนั่งบ่อยๆ แก้วน้ำที่ลูกใช้ประจำ หรือรายการทีวีที่ต้องดูด้วยกันทุกสัปดาห์ ความโศกเศร้านี้อาจทำให้พ่อแม่เก็บตัวออกห่างจากสังคม เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต 2) โล่งอก : หลังจากหลายเดือนแห่งความโศกเศร้าผ่านไป เริ่มคุ้นเคยกับบ้านที่ว่างเปล่า พ่อแม่มักรู้สึกโล่งใจ เริ่มชื่นชอบอิสรภาพครั้งใหม่ที่ค้นพบ มีเวลาดูแลตัวเองมากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และค้นพบว่าชีวิตก็ไม่ได้แย่อย่างที่เคยกังวล 3) สงบสุข : เมื่อผ่านอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ราวกับนั่งรถไฟเหาะได้สักระยะ ในที่สุดพ่อแม่ที่เผชิญกับภาวะ Empty Nest Syndrome ก็จะปรับตัวให้คุ้นเคยกับกิจวัตรประจำวันใหม่ๆ เข้าใจความเป็นไปของชีวิตได้มากขึ้น และจะพบกับความสงบสุข เมื่อสามารถค้นพบเป้าหมายใหม่ในชีวิตของตนเอง
สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อเติมเต็มความว่างเปล่าในใจ มีดังนี้
- เริ่มปรับตัว โดยการมองหาเป้าหมายใหม่ให้ชีวิต
- ปรับวิธีคิด แม้ไม่ต้องดูแลบุตรเหมือนเดิม ก็สามารถเปลี่ยนมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาได้
- ชื่นชมบุตรหลาน เมื่อประสบความสำเร็จและเลี้ยงดูตนเองได้
- ติดต่อพูดคุย กับบุตรหลานหรือคนในครอบครัวสม่ำเสมอ โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย
- ดูแลร่างกายให้สดใสแข็งแรง
- หางานอดิเรกทำ
- สามารถปรึกษาแพทย์ หากรู้สึกทุกข์ใจเป็นระยะเวลานาน
ซึ่งนอกจากการปรับตัวของวัยกลางคนในด้านต่างๆ แล้ว การได้รับความรักความเอาใจใส่จากบุตรหลาน ก็สามารถช่วยลดความรุนแรงของวิกฤติวัยกลางคนได้ด้วย
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
https://bit.ly/3KPCCBC