Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ดูแลตนเองอย่างไร เมื่อเป็นวัณโรคปอด


หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

08-04-2023 11:42

วัณโรค เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Mycobacterium tuberculosis สามารถเกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ได้แก่ เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอด

ภาพประกอบเคส

วัณโรค เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Mycobacterium tuberculosis สามารถเกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ได้แก่ เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอด

แหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ คือ เมื่อผู้ป่วยเป็นวัณโรคปอด ไอ จาม ถ่มน้ำลาย และขากเสมหะ ละอองเสมหะขนาดเล็กที่ถูกขับออกมาจะกระจายสู่อากาศและลอยค้างอยู่หลายชั่วโมง และเมื่อผู้อื่นหายใจรับเชื้อเข้าไปก็จะเกิดการติดเชื้อได้

อาการของผู้ป่วยวัณโรคปอด ได้แก่

  1. ไอติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์
  2. มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายๆ หรือตอนเย็น
  3. เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  4. เหงื่อออกตอนกลางคืน ผู้ป่วยบางรายในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการของโรค

การรักษา วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนี้

  1. โดยการรับประทานยาต้านวัณโรคตามคำสั่งแพทย์ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ในกรณีที่ไม่มีการแพ้ยา หรือดื้อยารักษาวัณโรค
  2. ห้ามหยุดรับประทานยาเองโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดวัณโรคชนิดดื้อยาได้
  3. ควรไปตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  4. ผู้ป่วยควรสังเกตอาการตนเองหลังรับประทานยา หากพบว่ามีอาการแสดงว่าแพ้ยา อาทิ มีผื่นแพ้ยา คลื่นไส้ อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง เมื่อมีอาการต่อไปนี้ ให้พบแพทย์โดยเร็ว

การดูแลตนเองของผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยวัณโรคต้องดูแลตนเองอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปให้ผู้อื่นด้วยการ

  1. สวมใส่หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น และเมื่อมีอาการไอ หรือ จาม
  2. บ้วนเสมหะลงในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด และ กำจัดขยะติดเชื้อที่มีการปนเปื้อนเชื้อวัณโรค อาทิ หน้ากากอนามัย หรือกระดาษชำระ โดยทิ้งใส่ถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น ทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด หรือนำไปเผาไฟทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
  3. ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนการรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ
  4. ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด การคลุกคลีใกล้ชิดกับบุคคลในครอบครัว ควรแยกห้องนอน ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และแยกการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  5. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  6. จิบหรือดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อละลายเสมหะและบรรเทาอาการไอ หลีกเลี่ยงน้ำเย็นหากยังมีอาการไอ
  7. ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
  8. ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี แสงแดดส่องถึง มั่นนำเครื่องนอน หมอน มุ้ง ไปตากแดด เพื่อให้แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อวัณโรค
  9. ควรงดการสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด

ทั้งนี้ผู้ที่อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน ควรรับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล และเอกซเรย์ช่วงทรวงอกเพื่อคัดกรองว่ามีการติดเชื้อวัณโรค หรือเป็นภาวะวัณโรคแฝง

ที่มา : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
https://bit.ly/40NTMpM


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท