Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ลูกสาวของพ่อ เลี้ยงอย่างไรไม่ให้เหินห่าง


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

08-04-2023 09:28

แม้ว่าสังคมของเราก้าวหน้าไปมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า วัฒนธรรมเรื่องการแสดงออกระหว่างชายหญิงนั้น ยังฝังรากลึกอยู่ในใจคนไทย ถึงแม้ว่าเป็นพ่อเป็นลูก ด้วยเหตุนี้อาจทำให้คุณพ่อส่วนใหญ่เมื่อลูกสาวโตขึ้น จะค่อยๆห่างจากลูก เพราะวางตัวไม่ถูก ไม่เข้าใจ หรือคิดว่าลูกสาวกับแม่น่าจะคุยกันได้ง่ายกว่า

ภาพประกอบเคส

แม้ว่าสังคมของเราก้าวหน้าไปมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า วัฒนธรรมเรื่องการแสดงออกระหว่างชายหญิงนั้น ยังฝังรากลึกอยู่ในใจคนไทย ถึงแม้ว่าเป็นพ่อเป็นลูก ด้วยเหตุนี้อาจทำให้คุณพ่อส่วนใหญ่เมื่อลูกสาวโตขึ้น จะค่อยๆห่างจากลูก เพราะวางตัวไม่ถูก ไม่เข้าใจ หรือคิดว่าลูกสาวกับแม่น่าจะคุยกันได้ง่ายกว่า

การแสดงความรักระหว่างพ่อกับลูกสาวนั้น อาจไม่ถึงกับต้องแสดงความรักโอบกอดกันแนบชิดเหมือนที่เห็นในหนัง เพราะเพียงแค่การสัมผัสด้วยโอบไหล่ ลูบศีรษะลูกด้วยความเอ็นดู ก็จะทำให้ลูกซึมซับความรักและความห่วงใยได้ นอกจากนี้การให้ความสนใจในสิ่งที่ลูกบอกเล่า หรือการถามถึงสารทุกข์สุกดิบของลูกเรื่องที่โรงเรียน ก็ทำให้ลูกสัมผัสได้ถึงความรักความใส่ใจที่คุณพ่อมีให้ และลูกก็จะไว้ใจที่จะปรึกษาเรื่องต่างๆ กับคุณพ่อหากมีปัญหาได้

ให้พ่อได้มีบทบาทในการเลี้ยงลูก
คุณแม่มีบทบาทมากที่จะช่วยเสริมให้พ่อได้ใกล้ชิดลูกมากขึ้น ด้วยการเปิดโอกาสให้พ่อได้มีบทบาทในการเลี้ยงลูกตั้งแต่ยังเป็นทารก โดยไม่รำคาญหากคุณพ่อมีทีท่าเงอะๆ งะๆ ซึ่งคุณแม่ก็ควรให้การแนะนำในการช่วยดูแลเล็กๆ น้อยๆ อย่างการอุ้มหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ถ้าลูกโตพอคุณแม่ก็ควรสนับสนุนให้พ่อพาลูกออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ นอกบ้าน อย่างการชวนลูกปั่นจักรยาน เล่นกีฬา ว่ายน้ำบ้าง

ที่สำคัญคุณแม่ควรให้เกียรติพ่อของลูก ไม่ติ ไม่บ่นคุณพ่อให้ลูกได้ยิน รวมถึงเมื่อลูกสาวขอคำปรึกษาเรื่องใดๆ แล้ว คุณแม่อาจลองแนะนำให้ลูกไปถามคุณพ่อเพื่อฟังความเห็นที่หลากหลาย เพราะการเลี้ยงลูกในสมัยนี้ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่แม่เพียงอย่างเดียวอีก ต่อไป

อีกทั้งมุมมองของพ่อ ที่แน่นอนว่าจะต้องต่างจากของคุณแม่ ก็ยังเป็นการเปิดโลกแห่งความคิดของลูกให้กว้างขวางมากขึ้น ขณะที่คุณแม่อาจจะชื่นชอบการสอนลูกทำกับข้าว คุณพ่อก็อาจสนุกสนานกับการชวนลูกไปปั่นจักรยานเล่น หรือสอนเรื่องเครื่องยนต์ต่างๆ ซึ่งการที่ลูกได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายนี่เอง จะเป็นประโยชน์ต่อลูกสาวที่พ่อรักในอนาคต ทั้งในเรื่องความคิด การเรียน และการใช้ชีวิตต่อไป

พ่อที่มีลูกกำลังอยู่ในวัยรุ่นช่วงอายุ 10-15 ปี
พ่อแม่ควรดูแลเอาใจใส่เน้นด้านอารมณ์ ความรู้สึก ที่ต้องแสดงว่ารัก อาจทำด้วยการส่งสายตามองลูกด้วยความรัก ความห่วงใย ว่าลูกเป็นที่รักของพ่อแม่เสมอและตลอดกาล พ่อจำวันเกิดลูกได้ อาจทำให้ซึ้งใจมากขึ้น อย่าลืมว่าเด็กในวัยรุ่นที่กำลังจะก้าวสู่วัยรุ่นตอนปลาย (อายุ 15-18 ปี) จะไม่ชอบให้ใครมาจุกจิกกวนใจ เป็นตัวของตัวเองสูง หวงเนื้อหวงตัว หากพ่อแม่ไม่เข้าใจ ลูกก็จะต่อต้านและไม่ไว้วางใจพ่อแม่ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม

"วัยรุ่นช่วงนี้ชอบทำตัวแปลกๆ เป็นตัวของตัวเอง ทำอะไรด้วยตัวเอง ต้องการความสำเร็จ ต้องการพิสูจน์ตัวเอง ชอบแต่งตัวแปลกๆ ต้องการความสนใจ ทำตัวเด่นบ้าง เพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง ดังนั้นพ่อแม่ที่มีลูกในวัยนี้ต้องไม่มีกำแพงมาปิดกั้นความสัมพันธ์กับลูก พ่อแม่ควรปรับตัวสนใจในเรื่องที่ลูกอยากรู้ อยากเห็น และให้โอกาส แต่คอยเฝ้าระวังแต่ไม่มากเกินไป เพื่อให้ลูกไว้วางใจ อีกทั้งไม่ควรติเตียน ไม่ควรเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น ไม่บ่น ไม่ดุด่า ไม่พูดขึ้นมาลอยๆ แต่ควรมีจิตวิทยาในการพูด เช่น หากลูกผลการเรียนแย่ลง พ่อแม่ควรพูดว่า หากลูกให้เวลากับการเรียนอีกสักนิด พ่อแม่เชื่อมั่นว่าผลการเรียนของลูกก็จะดีขึ้น"

พ่อที่มีความขัดแย้งกับลูกสาว
พ่อต้องมองตัวเองก่อน หากอยากให้ลูกสาวมีความรู้สึกที่ดีขึ้นต้องให้เวลาลูกสาว เอาใจใส่เขา ถามทุกข์สุขเขาเป็นอย่างไร อาจจะทักทายวันนี้ลูกแต่งตัวสวยดูดี ต้องมองลูกสาวในมุมบวก พ่อต้องยอมอ่อนให้ลูกบ้าง ไม่มีทิฐิหรือเรื่องของศักดิ์ศรี ให้เกียรติลูกได้แสดงความคิดเห็น พูดคุยในเรื่องที่ลูกสนใจ อะไรที่ลูกสาวสนใจพ่อควรใฝ่หาความรู้ และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับลูกสาว เชื่อว่าหากเลี้ยงลูกแบบนี้ความเหินห่างระหว่างพ่อกับลูกสาวจะไม่มี ครอบครัวสุขสันต์มากขึ้น

ที่มา : มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว
https://bit.ly/3M8Dvrp


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท