วัคซีนมีความสำคัญต่อผู้สูงอายุอย่างไร
หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
08-04-2023 09:01
วัคซีนในประเทศไทยมีหลากหลายชนิด วัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันโรคหรือลดความรุนแรงของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพลดลง ผู้สูงอายุจึงมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อและจะมีโอกาสป่วยหนักหรือเสียชีวิตมากขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น
วัคซีนในประเทศไทยมีหลากหลายชนิด วัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันโรคหรือลดความรุนแรงของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพลดลง ผู้สูงอายุจึงมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อและจะมีโอกาสป่วยหนักหรือเสียชีวิตมากขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ดังนั้นวัคซีนจึงมีบทบาทในการป้องกันโรคหรือลดความรุนแรงในการเกิดโรค ลดการนอนโรงพยาบาลหรือห้องไอซียู หรือลดความเสี่ยงการเสียชีวิตได้ เป็นต้น
วัคซีนที่จำเป็นและแนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุ ได้แก่
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สำหรับประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขจะให้บริการฉีดชนิดนี้ฟรีให้กับผู้สูงอายุ (ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป) คำแนะนำควรฉีดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ก่อนเข้าฤดูฝน แต่สามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี ห้ามฉีดในผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่รุนแรง
- วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัส โดยทั่วไปในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แนะนำฉีดวัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์และตามด้วย 23 สายพันธุ์ ห่างกันอย่างน้อย 1 ปี แต่สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ จะมีแนวทางการฉีดวัคซีน และเข็มกระตุ้นที่แตกต่างกัน ขึ้นกับโรคประจำตัวแต่ละคน
- วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ฉีด 1 เข็ม ครั้งเดียว เนื่องจากวัคซีนงูสวัดเป็นวัคซีนเชื้อเป็น ไม่แนะนำฉีดให้ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง หรืออยู่ระหว่างการได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือยาสเตียรอยด์ขนาดสูง หรือมีภาวะแพ้วัคซีน ผู้ที่มีประวัติแพ้เจลาตินและนีโอมัยซินที่รุนแรง และหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมสำหรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนชนิดนี้
- วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน เพื่อช่วยลดการเกิดแพร่เชื้อไอกรนจากผู้ใหญ่ไปสู่เด็กเล็กที่หากติดเชื้อแล้วจะมีอัตราการตายที่สูงคำแนะนำ Tdap ฉีด 1 เข็ม ครั้งเดียว และ Tdฉีด 1 เข็ม ทุก 10ปี
- วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 บุคคลทั่วไปสามารถฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ตามข้อบ่งชี้เบื้องต้น แต่จะมุ่งเน้นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่กลุ่ม “608” ประกอบด้วยผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค
ก่อนการฉีดวัคซีนต้องเตรียมตัวอย่างไร
หากท่านมีไข้ หรือเจ็บป่วยไม่สบาย แนะนำให้เลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน รอให้หายดีหรือสุขภาพร่างกายแข็งแรงก่อน จึงจะสามารถฉีดวัคซีนได้ ท่านควรนอนหลับพักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ ในวันฉีดวัคซีน สามารถรับประทานอาหารและยาโรคประจำตัวได้ตามปกติ
หลังจากฉีดวัคซีนจะต้องสังเกตอาการตัวเองอย่างไรบ้าง
โดยปกติหลังจากการฉีดวัคซีน ท่านอาจมีอาการไข้ ไม่สบายตัว ปวดเมื่อยตามตัวได้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรืออาจมีภาวะบวม แดง ปวดบริเวณที่ฉีดได้ ท่านสามารถเช็ดตัวลดไข้ กินยาพาราเซตามอลแก้ปวด ประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการ ส่วนใหญ่อาการจะไม่หนักและหายได้เอง แต่หากมีผื่นขึ้นตามตัว แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก วูบหน้ามืดหรือเป็นลม ให้สงสัยว่าอาจมีภาวะแพ้รุนแรง ต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน
ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC)
https://bit.ly/3nY1bEF