Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

7 อาการโรคซึมเศร้า ที่ลูกหลานต้องสังเกต


หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย

หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป

08-04-2023 08:49

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ พบมากถึง 10-20% ของประชากร และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง อยู่ตัวคนเดียว สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือป่วยเป็นโรคเรื้อรังซึ่งรักษาไม่หายขาด กระทั่งการอยู่ในสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่ไม่สามารถระบายความในใจกับใครได้ จะมีความเสี่ยงกับภาวะนี้มากขึ้น

ภาพประกอบเคส

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ พบมากถึง 10-20% ของประชากร และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง อยู่ตัวคนเดียว สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือป่วยเป็นโรคเรื้อรังซึ่งรักษาไม่หายขาด กระทั่งการอยู่ในสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่ไม่สามารถระบายความในใจกับใครได้ จะมีความเสี่ยงกับภาวะนี้มากขึ้น

“ความเครียด” ตัวการสำคัญ และมีผลต่อทั้งอารมณ์ จิตใจ ดังนั้นเมื่อผู้อายุเครียดมากๆ จนไม่สามารถจัดการได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคซึมเศร้า หากพบว่าผู้สูงอายุหรือ คุณพ่อคุณแม่มีอาการดังที่จะกล่าวนี้นานเกิน 2 อาทิตย์ อาจเข้าข่ายป่วยโรคดังกล่าว จึงควรรีบพาไปพบแพทย์

อาการของโรคซึมเศร้าที่ลูกหลานควรสังเกต ได้แก่

  1. นิ่ง พูดคุยน้อย เมื่อผู้สูงอายุนิ่ง ไม่ค่อยตอบสนอง ส่งผลให้ผู้ดูแลไม่ทราบว่าจะพูดอย่างไรให้ถูกใจ บางครอบครัวจึงปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง ซึ่งไม่ถูกต้อง ผู้ดูแลควรให้ความรักแก่ผู้สูงอายุ หมั่นสังเกตและใส่ใจความรู้สึก อารมณ์และความคิด พร้อมทั้งเปิดโอกาสผู้สูงอายุได้พูดในสิ่งที่ต้องการ หรือชวนพูดคุยเรื่องที่ผู้สูงอายุสนใจ เช่นคุยถึงเรื่องราวในอดีตที่มีความสุข โดยไม่ควรขัดจังหวะ หรือตัดบท
  2. รับประทานอาหารน้อยลง หรือแทบไม่กินเลย ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีน้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจอดอาหาร จึงมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร ควรปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้น่ารับประทานขึ้น เลือกเมนูอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย และไม่กระทบต่อโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ
  3. ไม่อยากทำอะไร เฉื่อยชา ความสนใจสิ่งต่างๆ ลดลงมาก หรือไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไรเกือบทุกวัน เบื่อหน่ายมาก อะไรที่เคยชอบก็ไม่อยากทำ รวมทั้งไม่สนใจที่จะดูแลตัวเอง จากที่เคยเป็นคนใส่ใจดูแลตนเองมาก ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง หากเป็นเช่นนี้ลูกหลานควรพยายามกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมง่ายๆ ให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น อีกทั้งควรกระตุ้นให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพของต้นเอง เช่น การแปรงฟัน ทำความสะอาดช่องปาก พยายามกระตุ้นให้เคลื่อนไหวร่างกายออกกำลังกายพอสมควร หรือหากมีปัญหาด้านการมองเห็น ควรพาไปพบจักษุแพทย์ตรวจวัดสายตาและใส่แว่นตา หรือรักษาเพื่อลดอุบัติเหตุจากการมองไม่เห็น
  4. ชอบนอนเฉยๆ ชวนไปไหนก็ไม่ค่อยอยากไป แนะนำให้ลูกหลานพยายามเข้าหา ควรหากิจกรรมทำ โดยควรเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ในครอบครัว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้จะทำให้ผู้สูงอายุปลีกตัวมากขึ้น อารมณ์จะยิ่งเลวร้ายลง
  5. นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไปเกือบทุกวัน อาจชวนทำกิจกรรมเบาๆ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือฟังธรรมมะ หากนอนไม่หลับติดต่อกัน 3-4 วันขึ้นไป ควรพบแพทย์ หรือหากผู้สูงอายุชอบนอนกลางวัน ถ้าง่วงมากให้นอนได้ระหว่าง 12:00-14:00 น. แล้วปลุก เพราะถ้านอนกลางวันมากเกินไป ตอนกลางคืนย่อมมีปัญหาการนอน
  6. อารมณ์แปรปรวนหงุดหงิด ฉุนเฉียว หากผู้สูงอายุมีอาการหงุดหงิด โมโหง่าย หรือขี้บ่น ลูกหลานหรือผู้ดูแลไม่ควรโวยวายหรือโต้เถียง เพราะยิ่งโต้งเถียงจะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุเกิดอารมณ์ขุ่นมัวขึ้น และตัวผู้ดูแลก็จะอารมณ์เสียตามไปด้วย สิ่งที่ควรปฏิบัติคือการ ต้องรับฟังอย่างเข้าใจ ปล่อยให้ผู้สูงอายุระบายความรู้สึกออกมาก่อน และหาวิธีเพื่อลดความหงุดหงิดนั้นๆ รวมถึงพยายามเบนความสนใจจากเรื่องที่ทำให้ผู้สูงอายุหงุดหงิด อาจจะจับมือและนวดเบาๆ ที่หลังมือของผู้สูงอายุระหว่างคุย จะช่วยลดอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวได้
  7. บ่นว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากกว่าปกติ มีความคิดอยากตายหรืออยากทำร้ายตัวเอง ผู้ดูแลควรสังเกตความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจบ่งบอกว่ามีความคิดที่จะทำร้ายตนเอง และเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดพยายามไม่ให้คลาดสายตา และพยายามหาคุณค่าในตัวผู้สูงอายุและบอกให้ผู้สูงอายุรับทราบ รับฟังปัญหาโดยต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ตำหนิความคิดของผู้ป่วย อีกทั้งต้องไม่พูดว่าเรื่องของผู้ป่วยเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อช่วยกันวางแผนการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้องเหมาะสม

ที่มา : กรมกิจการผู้สูงอายุ
https://www.dop.go.th/th/know/15/414


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท