Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ความรู้สึกนึกคิดของหญิงรักหญิงเพศเดียวกัน (Lesbian)


หมวดหมู่หลัก: LGBTQ

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

08-04-2023 08:11

การวิจัยในต่างประเทศมักเรียกกลุ่มหญิงรักหญิงเพศเดียวกันทุกแบบรวมกันว่า “เลสเบี้ยน (Lesbian)” โดยไม่แบ่งแยกประเภท ซึ่งทำให้ผลการวิจัยขัดแย้งกันเองในหลายประเด็น สำหรับในสังคมไทยมีการแบ่งแยกประเภทหญิงรักหญิงเพศเดียวกันเป็นหลายลักษณะ ซึ่งเป็นประโยชน์ในงานวิจัยนี้ที่ทำให้การวิจัยและผลที่ได้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะทอมและดี้ต่างก็มีความรู้สึกนึกคิดในตัวตนไม่เหมือนกัน

ภาพประกอบเคส

การวิจัยในต่างประเทศมักเรียกกลุ่มหญิงรักหญิงเพศเดียวกันทุกแบบรวมกันว่า “เลสเบี้ยน (Lesbian)” โดยไม่แบ่งแยกประเภท ซึ่งทำให้ผลการวิจัยขัดแย้งกันเองในหลายประเด็น สำหรับในสังคมไทยมีการแบ่งแยกประเภทหญิงรักหญิงเพศเดียวกันเป็นหลายลักษณะ ซึ่งเป็นประโยชน์ในงานวิจัยนี้ที่ทำให้การวิจัยและผลที่ได้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะทอมและดี้ต่างก็มีความรู้สึกนึกคิดในตัวตนไม่เหมือนกัน

ผู้ให้ข้อมูล “ทอม” ผ่านการยอมรับว่าตนเองเป็น “ทอม” แต่ผู้ให้ข้อมูล “ดี้” มักรับรู้ตนเองในฐานะ “ผู้หญิงที่มีคู่รักเป็นทอม” มากกว่าจะยอมรับว่าตนเป็นดี้ เนื่องจากแม้ว่าพวกเธอชอบผู้หญิงเพศเดียวกันแต่มีแบบแผนการพัฒนาเอกลักษณ์บางส่วนแตกต่างจากทอม คือ มีการปรากฏตัวในสังคมเป็นผู้หญิงในความรู้สึกของคนทั่วไป จึงไม่มีความขัดแย้งในบทบาทและไม่ต้องมีการเปลี่ยนบทบาท สังคมมักจะรับรู้ว่า “เธอคนนี้มีแฟนเป็นทอม” มากกว่าให้ความสนใจว่าเธอเป็นดี้หรือไม่ จึงไม่ต้องผ่านขั้นตอนการยอมรับตนเองและนิยามตนเองเป็นดี้ แตกต่างจากทอมที่มักมีแรงกดดันจากสังคมมากกว่า

คำว่า “ทอม” เป็นคำที่แฝงไว้ด้วยตราบาปและอคติทางสังคม “อยากเป็นผู้ชายไม่ได้อยากเป็นทอม” “เป็นผู้ชายไม่ได้ก็ต้องเป็นทอม” การยอมรับจึงเป็นในลักษณะจำยอมเพื่อลดแรงต่อต้านของสังคม ยอมรับใน “สภาพที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่” ตามข้อจำกัดทางสังคมที่เรียกตนว่าทอม ซึ่งการยอมรับข้อจำกัดในชีวิตได้ตามความเป็นจริงนั้น ทำให้จิตใจเข้มแข็งขึ้น หวั่นไหวต่อคำพูดเชิงลบน้อยลง และมีอิสระที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวเองมากขึ้น

บทความวิจัยเรื่อง “ประสบการณ์ด้านจิตใจของหญิงรักเพศเดียวกันที่มีความสัมพันธ์แบบคู่รัก” โดย พิมพ์สิริอร ศิริทิณพงษ์ สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2554) ได้ข้อค้นพบที่ชัดเจนว่า “ทอม” และ “ดี้” เหมือนกันที่เพศสรีระ แต่แตกต่างกันที่ “เพศสภาวะ” คือ ทอมมีการดำรงเพศสภาวะที่ไม่สอดคล้องกับเพศสรีระตามที่สังคมกำหนด ทอมรู้สึกอยากเป็นผู้ชาย ชอบเล่นของเล่น ทำกิจกรรมแบบผู้ชาย ไม่ชอบใส่กระโปรง และชอบผู้หญิง และรายงานว่าเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่เกิดหรือเป็นโดยธรรมชาติ ขณะที่ดี้มักรายงานว่าไม่ได้ชอบผู้หญิงมาตั้งแต่เด็ก มักมีแฟนผู้ชายมาก่อน ภายหลังจึงมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงฉันคู่รัก และในที่สุดก็ชัดเจนในตนเองว่าชอบผู้หญิง

การที่ดี้รับรู้รสนิยมทางเพศล่าช้า อาจเพราะการเลี้ยงคู่ขัดเกลาที่ให้ดำรงชีวิตตามบทบาทที่สังคมกำหนด จึงไม่เคยคิดชอบผู้หญิง และบางคนถึงขั้นเกลียดตามการเรียนรู้อคติทางสังคมว่าเป็นเรื่องผิดปกติหรือตามข้อห้ามทางศาสนา ต้องข่มจิตหรือปฏิเสธความต้องการของตน นั่นแสดงว่าหากสังคมให้การยอมรับ การพัฒนาตัวตนและรสนิยมทางเพศของหญิงรักเพศเดียวกันน่าจะเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ที่มา : คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://bit.ly/418SPbR


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท