จุกหลอก ดีต่อลูกน้อยหรือไม่
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
26-03-2023 14:02
จุกหลอก หรือ Pacifier เป็นอุปกรณ์ที่คุณแม่หลายคนสงสัยว่า “จำเป็นหรือไม่” สำหรับการเลี้ยงลูก เพราะบางทีเดินไปตามห้างหรืองานเด็ก จุกหลอกก็ออกแบบมาน่ารักน่าชัง จนบัตรเครดิตมันสั่นไปหมด
จุกหลอก หรือ Pacifier เป็นอุปกรณ์ที่คุณแม่หลายคนสงสัยว่า “จำเป็นหรือไม่” สำหรับการเลี้ยงลูก เพราะบางทีเดินไปตามห้างหรืองานเด็ก จุกหลอกก็ออกแบบมาน่ารักน่าชัง จนบัตรเครดิตมันสั่นไปหมด
หากตอบง่าย ๆ ก็คือ ไม่จำเป็น แต่ก็มีประโยชน์ โดยหากยึดตามคำแนะนำของ AAFP 2009 ของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าให้ชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของจุกหลอกเอาเองว่าควรหรือไม่ควรใช้
ข้อดีของจุกหลอก
- ลดความเจ็บปวด (analgesic effect) ใช้ตอนลูกคันหรือปวดเหงือกก็ได้ แต่ที่ใช้จริงคือใน โรงพยาบาลที่ต้องเจาะเลือดเด็ก หรือทำหัตถการที่ไม่มากนัก บางครั้งเราจะเอาจุกหลอกให้เด็กดูด และมีการศึกษาว่าลดความเจ็บปวดได้
- ลดการนอนโรงพยาบาลของเด็กคลอดก่อนกำหนด
- ลดโอกาสการเกิดโรคไหลตายในเด็ก (SIDS; sudden infant death syndrome) มีการศึกษาชัดเจนว่าลดการตายจาก SIDS ได้ 1 คนทุกๆ การใช้ 2733 คน (number needed to treat)
- ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
ข้อเสียของจุกหลอก (หากใช้นานหรือเริ่มใช้เร็วเกิน)
- รบกวนนมแม่ โดยเฉพาะช่วงเดือนแรก ทำให้ลูกสับสนหัวนม และดูดนมแม่ได้ไม่ดี
- ฟันไม่สบกัน (malocclusion)
- เพิ่มโอกาสการติดเชื้อที่หูชั้นกลาง
คำแนะนำ
- หากคุณแม่ต้องการใช้จุกนม "ใช้ได้" แต่เริ่มให้ถูก หยุดให้เป็น
- หากจะเริ่ม ควรเริ่มหลังอายุ 1 เดือนเป็นต้นไป เพราะจะได้ไม่รบกวนการให้นมแม่
- เริ่มหยุดการใช้จุกหลอกหลังอายุ 6 เดือน เพราะเป็นช่วงเพิ่มโอกาสการติดเชื้อที่หูชั้นกลางมากขึ้น
- หากทำได้ไม่ควรเลิกช้ากว่า 10 เดือน เพราะเริ่มมีข้อเสียมากกว่าข้อดี โดยเฉพาะเรื่องของฟันเก
- ยิ่งเลิกช้า จุกหลอก จะกลายเป็น transitional objects หรือสิ่งของทดแทนแม่ไป คราวนี้จะเลิกยากกว่าเดิม
- สายคล้องจุกหลอก ไม่ควรยาวเกิน 22 ซม. และต้องไม่มีอะไรที่สามารถหลุดติดคอได้
ที่มา : เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ
https://bit.ly/3K6esDW