Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

Body Language ถอดรหัสลับภาษากายลูกน้อย


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

26-03-2023 13:51

การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทารกและคุณพ่อคุณแม่ เพราะเป็นการบอกว่าลูกมีความต้องการอะไรหรือเจ็บป่วยตรงไหน ซึ่งเด็กวัยที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มักใช้การสื่อสารด้วยภาษากาย (Body Language) เพื่อส่งสัญญาณบางอย่าง

ภาพประกอบเคส

การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทารกและคุณพ่อคุณแม่ เพราะเป็นการบอกว่าลูกมีความต้องการอะไรหรือเจ็บป่วยตรงไหน ซึ่งเด็กวัยที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มักใช้การสื่อสารด้วยภาษากาย (Body Language) เพื่อส่งสัญญาณบางอย่าง

บางครั้งพ่อแม่อาจไม่เข้าใจว่าท่าทางต่างๆ นั้นหมายถึงอะไร เพราะหลายท่าที่คล้ายกันอาจสื่อความหมายต่างกันได้ การอ่านภาษากายของเด็กทารกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับพัฒนาการของลูกน้อยให้เหมาะสม

ภาษากายที่ลูกน้อยอยากบอก

  1. เตะขา การเตะขาของทารก บอกได้หลายความหมาย ถ้าเตะขาและยิ้มไปด้วยแปลว่ามีความสุข ตื่นเต้น อยากให้พ่อแม่เล่นด้วย แต่ถ้าเตะด้วยอาการหงุดหงิดและร้องไห้ อาจแปลได้ว่ามีอะไรกวนใจลูกน้อยอยู่ อย่างผ้าอ้อมแฉะจนไม่สบายตัว หรือมีอาการท้องอืด ถ้าตรวจเช็กแล้วว่ามีอาการที่ว่ามานี้ ก็ควรรีบจัดการให้ลูกน้อยสบายตัวขึ้น
  2. จับหู จับตา เมื่อไรที่ลูกเริ่มจับหู จับตา เป็นไปได้ว่าเขากำลังสำรวจร่างกายตัวเองว่ามีอวัยวะใดบ้าง แต่ถ้าจับแล้วมีอาการงอแงร่วมด้วย มักบ่งบอกได้ว่ากำลังเหนื่อยและง่วงนอนเต็มที หลายครั้งท่าทางจับตาและหูพร้อมขยี้บ่อยๆ ก็เป็นตัวช่วยระบายความหงุดหงิดของลูกน้อยในช่วงที่ฟันเริ่มขึ้นได้ โดยเรียกอาการแบบนี้ว่า “คันเหงือก” พ่อแม่ควรหาอะไรให้ลูกกัดเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการคัน อย่างไรก็ตามถ้าอาการจับเหล่านี้มาพร้อมอาการตัวร้อนและง่วงซึม อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความเจ็บป่วย พ่อแม่ควรรีบเช็กว่าเจ้าตัวเล็กมีไข้ร่วมด้วยหรือเปล่า ถ้าใช่ควรรีบพาไปพบแพทย์หรือให้ทานยาประจำตัวแล้วรอดูอาการ
  3. กำมือ การกำมือเป็นท่าทางปกติของทารกเวลานอนหลับ เนื่องจากพัฒนาการทางระบบประสาทยังไม่มากพอที่จะขยับนิ้วมือ แต่ถ้าลักษณะการกำมือนั้นแน่นมากกว่าปกติ อาจหมายถึงทารกมีความเครียดหรือหิว ซึ่งถ้าหิวจัดจะมีอาการเกร็งตัวร่วมด้วย สิ่งที่พ่อแม่ควรจะทำอย่างแรกคือทำให้ลูกน้อยเกิดความผ่อนคลายและคลายกำปั้นออกก่อน โดยอาจจะจับอุ้มหรือขยับท่านอนให้อยู่ในท่าที่สบายขึ้น แล้วจึงเขาทานนมเป็นลำดับต่อไป
  4. แอ่นหลัง การแอ่นหลังแสดงออกถึงความเจ็บปวด ซึ่งอาจเกิดจากการนอนไม่สบายตัว สิ่งที่ควรทำคือตรวจดูว่าลูกมีอาการเจ็บป่วยตรงไหน และจัดท่านอนให้เหมาะ แต่ถ้าลูกแอ่นหลังในระหว่างที่กำลังกินและบ้วนอาหารออกมา พ่อแม่สามารถเดาได้เบื้องต้นว่าลูกเริ่มอิ่มแล้ว ควรหยุดป้อนอาหาร อย่าบังคับหรือหลอกล่อให้ลูกกินต่อ เพราะอาจทำให้เกิด “ภาวะไหลย้อนในเด็ก” ได้ นอกจากนี้ท่าทางแอ่นหลังยังมักเกิดในช่วงที่เด็กอายุ 4-5 เดือน เพราะเป็นช่วงที่เขาพยายามพลิกตัวเป็นครั้งแรกนั่นเอง
  5. เอาหัวโขกพื้น การที่เด็กเอาหัวไปโขกกับพื้นหรือที่กั้นรอบเตียงนั้นเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะการเอาหัวโขกเป็นจังหวะ คือท่าทางการเคลื่อนไหวที่ทำให้เด็กเกิดความผ่อนคลาย แต่พ่อแม่ห้ามละเลย ต้องหมั่นสังเกตอยู่เสมอว่าลูกเอาหัวโขกสิ่งรอบข้างเป็นเวลานานหรือทำบ่อยจนเกินไปหรือเปล่า ถ้ารุนแรงถึงขั้นเกิดรอยแดงหรือหัวโน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  6. ขยับปาก ทารกจะขยับปากเลียนแบบท่าทางการดูดนม เพื่อเป็นการส่งสัญญาณบ่งบอกว่า “หนูหิวแล้ว” ท่าทางนี้จะแสดงออกตั้งแต่ลูกน้อยอายุได้ 3 สัปดาห์ขึ้นไป เมื่อเห็นอาการคุณแม่ควรจับลูกเข้าเต้าทันที ไม่ควรปล่อยให้ลูกหิวจนตัวเกร็งเพราะอาจส่งผลต่อพัฒนาการและอารมณ์ลูกได้ นอกจากนี้ในเด็กบางคนที่ทานได้น้อยจนเสี่ยงภาวะขาดสารอาหาร คุณแม่สามารถใช้เทคนิคเอาหัวนมถูที่ข้างแก้มลูก เพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากนมมากขึ้นได้
  7. เบือนหน้าหนี การเบือนหน้าหนีนั้นแปลได้หลายความหมาย ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการปฏิเสธสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เช่น ไม่ยอมให้คนแปลกหน้าอุ้ม ไม่อยากกินยาเวลาป่วย นอกจากนี้ยังอาจเป็นการบอกคุณพ่อคุณแม่ ให้หันไปดูสิ่งที่ตัวเองมองอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น และถ้าเบือนหน้าหนีในระหว่างที่กำลังป้อนอาหาร มักเป็นการบอกว่ายังเคี้ยวหรือกลืนคำนี้ไม่เสร็จดี และยังไม่พร้อมกินคำใหม่
  8. เหยียดแขน การเหยียดแขนเป็นสัญญาณที่บอกว่าลูกกำลังอารมณ์ดี หากเป็นการเหยียดแขนในช่วงที่กำลังพยายามหัดลุกขึ้นนั่ง เด็กจะยืดแขนออกเพื่อเป็นการทรงตัว ในกรณีนี้พ่อแม่ควรให้ความช่วยเหลือโดยการประคองหรือเฝ้าระวังอยู่ห่าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายขณะที่ลูกกำลังพยายามทรงตัว แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วยในทุกๆ ครั้ง ควรปล่อยให้ลูกเรียนรู้ที่จะเคลื่อนไหว และจัดระเบียบร่างกายตัวเอง

ทั้งหมดนี้เป็นการสังเกตและข้อปฏิบัติเบื้องต้น ทางที่ดีพ่อแม่ควรค่อยๆ เรียนรู้ท่าทางของลูกอยู่ตลอดเวลา เพราะเด็กแต่ละคนมีท่าทางเฉพาะตัว ที่อาจแปลความหมายได้หลากหลายกว่านี้ หากเกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติจริงๆ อาจลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญดู เพื่อรับมือกับพัฒนาการของเจ้าตัวเล็กได้อย่างเหมาะสม

ที่มา : cotton baby https://bit.ly/3n9lezG


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท