กินคลีนอย่างไรให้ถูกวิธี
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: อาหารเสริมสุขภาพ
19-03-2023 09:37
เทรนด์สุขภาพเป็นที่นิยมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารคลีนเพื่อสุขภาพ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ยังเลือกทานอาหารคลีนไม่ถูกหลัก เช่น กลุ่มคนติดของหวาน ที่หลังทานอาหารต้องมีของหวาน
เทรนด์สุขภาพเป็นที่นิยมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารคลีนเพื่อสุขภาพ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ยังเลือกทานอาหารคลีนไม่ถูกหลัก เช่น กลุ่มคนติดของหวาน ที่หลังทานอาหารต้องมีของหวาน
อาหารคลีนคืออะไร
อาหารที่มาจากธรรมชาติ ลดการปรุงแต่งหรือปรุงแต่งให้น้อยที่สุด โดยใช้วัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติเท่านั้น ไม่ใส่สารเจือสี หรือสารปรุงแต่งทั้งหลาย ซึ่งเวลาทานจะทานเป็นมื้อน้อยๆ ในปริมาณที่เหมาะสม แบ่งออกเป็น 6 มื้อ รับประทานทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นการเผาผลาญ พร้อมทั้งการดื่มน้ำในปริมาณ 2-3 ลิตรต่อวัน หลีกเลี่ยงอาหารประเภทของหวาน น้ำตาล ไขมันที่ไม่ดี และแอลกอฮอล์ เช่น น้ำหวาน ของทอด ขนมหวานต่างๆ ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ไม่ขัดสี โปรตีนไขมันต่ำ ไขมันที่ดี เน้นวัตถุดิบที่นำมาใช้ เครื่องปรุงจากธรรมชาติ
สำหรับอาหารจำพวกของหวานนั้นควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด
สังเกตได้ว่าอาหารคลีนจะไม่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบเลย แต่จะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ให้ความหวานแทน เช่น น้ำผึ้ง และยังคงใช้ในปริมาณที่เหมาะสมอีกด้วย ซึ่งโดยปกติร่างกายของคนเราจะต้องการน้ำตาลเพียง 6 ช้อนชาหรือ 30 กรัมต่อวันเท่านั้น
ส่วนอาหารประเภทโปรตีนในส่วนของอาหารคลีนจะเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา เนื้อไก่ ไข่ หรือพืชตระกูลถั่ว เน้นเนื้อสีขาวๆ เป็นหลัก เพราะเป็นลักษณะของเนื้อไขมันต่ำ หรืออาหารทะเลเป็นต้น
สำหรับเครื่องดื่มที่ถูกจัดเป็นอาหารคลีนนั้น ได้แก่
กาแฟดำ ชาสมุนไพร หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่ใส่น้ำตาล หลีกเลี่ยงพวกกาแฟเย็น ชาเย็น เพราะพวกนี้มีทั้งนมและน้ำตาล รวมถึงชาเขียวบรรจุขวดก็มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสำคัญเช่นกัน และถึงแม้ว่าอาหารคลีนจะเป็นอาหารที่ได้จากธรรมชาติก็ตาม แต่อาหารคลีนก็ยังคงมีรสชาติอยู่ สามารถเติมพริก หรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ ได้ แต่เน้นว่าจะต้องเป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติเท่านั้น และควรปรุงในปริมาณที่เหมาะสม ปราศจากสารกันเสียและสารปรุงสี
เทคนิคดีๆ ในการเลือกทานอาหารคลีน
1.จัดอาหารให้มีความสมดุล แบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อยๆ 4-6 มื้อต่อวัน
2.ทานอาหารเช้าทุกวัน หลังจากตื่นนอน 1 ชั่วโมง
3.เลือกทานโปรตีนชนิดไม่ติดมัน และเลือกทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีท ในทุกมื้อ
4.ทานอาหารที่มีไขมันดีทุกวัน เช่น ถั่ว อะโวคาโด น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันสุขภาพชนิดอื่นๆ
5.เลือกอาหารที่มีไฟเบอร์ วิตามิน และเอนไซม์จากผักสดและผลไม้
6.ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน
7.หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปต่างๆ เช่น น้ำตาล ขนมปังขาว เส้นพาสต้า เป็นต้น
8.งดเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือน้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
ที่มา : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://bit.ly/3lpopTw