เมื่อรู้ว่าลูกเป็นออทิสติก
หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่
หมวดหมู่ย่อย: เจ็บป่วยทั่วไป
19-03-2023 09:22
พ่อแม่บางคนเมื่อรู้ว่าลูกตัวเองเป็นออทิสติก อาจทำใจยอมรับไมได้และยังมองไม่เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหา ลองใช้แนวทางเหล่านี้เพื่อปรับใช้และเปิดใจรับลูกน้อยที่เป็นออทิสติกกัน
พ่อแม่บางคนเมื่อรู้ว่าลูกตัวเองเป็นออทิสติก อาจทำใจยอมรับไมได้และยังมองไม่เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหา ลองใช้แนวทางเหล่านี้เพื่อปรับใช้และเปิดใจรับลูกน้อยที่เป็นออทิสติกกัน
- เปลี่ยนทัศนคติและความคิด โดยคิดในทางที่ดีว่า “ลูกต้องพัฒนาได้” ตั้งสติและไม่ท้อแท้
- ยอมรับในความเป็น “ลูก” และ “สิ่งที่ลูกเป็น” หมั่นบอกตนเองว่า “เรารักลูกของเรา ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร”
- หมั่นบอกกับตนเอง ว่า ถ้าเราไม่รัก และเข้าใจลูกของเรา แล้วใครจะรักแล้วเข้าใจ
- หมั่นบอกกับตนเองว่า “หยุดไม่ได้” ต้องพัฒนาลูกให้ช่วยตนเองให้ได้มากที่สุด
- พยายามดูแลจิตใจและร่างกายของตนเองให้เข้มแข็ง และมองโลกในแง่ดีพร้อมเผชิญปัญหา และเป็นหลักให้ลูก
- ไม่กล่าวโทษตนเองหรือคู่สมรสว่าเป็นสาเหตุทำให้ลูกมีปัญหา ไม่หมกมุ่นคิดถึงสาเหตุในอดีต การมีลูกออทิสติกไม่ใช่ความผิดของใคร
- ควรหันหน้าปรึกษากันในครอบครัว ถึงวิธีการดูแล เลี้ยงดู ฝึกอบรมลูก โดยพูดคุยทำความเข้าใจกับสมาชิกในบ้านทุกคน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และช่วยกันหาข้อมูลเกี่ยวกับออทิสติก จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของพี่น้องที่มีคนใดคนหนึ่งเป็นออทิสติก ต้องบอกอีกคนให้รับรู้ตามความเข้าใจของวัยเขา เช่น ถ้าเป็นน้องที่ยังเล็กก็ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และเน้นการมีส่วนร่วม ว่าตัวน้องเองจะช่วยเหลือพี่ที่เป็นออทิสติกอย่างที่คนอื่นในบ้านช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง และสิ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่คาดหวัง หรือบังคับจนเกินระดับความสามารถของเด็ก ไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าต้องรับภาระในการดูแล แต่ใช้การสร้างแรงจูงใจให้เขารู้สึกอยากช่วยเหลือ
แต่หากการเลี้ยงดูลูกออทิสติกยังเป็นเรื่องบั่นทอนพลังใจของพ่อแม่ที่รู้สึกเหนื่อย เบื่อ ท้อแท้ หรือเครียดจนนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์ อดทนต่อสิ่งที่มากระทบได้น้อย จนส่งผลเสียต่อการเลี้ยงดูแลลูกออทิสติก พ่อแม่ควรผ่อนคลายความเครียดโดยการ
- ออกกำลังกายหรือไปหาญาติหรือเพื่อนสนิทเพื่อพูดคุย
- พูดคุยปรึกษาปัญหากับพ่อแม่ที่มีลูกออทิสติก
- หาเวลาทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง
- หาที่สงบนิ่ง ผ่อนคลาย กำหนดลมหายใจเข้า-ออกให้ลึก ๆ ทำสมาธิ
- ร่วมกิจกรรมในชุมชน
- หาผู้อื่นมาดูแลแทนชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีเวลาผ่อนคลาย/พักผ่อน
- ขอรับบริการหรือความช่วยเหลือจากญาติ เพื่อน องค์กรของรัฐ/เอกชน
- หากปฏิบัติทุกข้อแล้วไมได้ผล ยังมีอาการเหนื่อย ท้อแท้ หดหู่ หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักวิชาชีพ เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
ที่มา : ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
http://medicine.swu.ac.th/msmc/?p=4229