Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

สื่อสารกับผู้สูงวัย แค่เข้าใจก็เข้าถึง


หมวดหมู่หลัก: ผู้สูงวัย

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

14-03-2023 08:54

บ้านไหนมีผู้สูงอายุ บ้านนั้นจะอบอุ่น เพราะปู่ย่าตายายได้อยู่พร้อมหน้ากับลูกหลาน ข้อความนี้ อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้

ภาพประกอบเคส

บ้านไหนมีผู้สูงอายุ บ้านนั้นจะอบอุ่น เพราะปู่ย่าตายายได้อยู่พร้อมหน้ากับลูกหลาน ข้อความนี้ อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เชื่อว่าหลายคนที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ไม่แพ้ความอบอุ่นก็คือช่องว่างระหว่างวัย คุยกันแล้วไม่เข้าใจ มีเหตุให้ต้องนับ 1 ถึง 100 กับความดื้อรั้นของผู้อาวุโสที่ยึดคาถาว่า “ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน” อยู่เป็นประจำ ครั้นลูกหลานคร้านจะตอแย คุณปู่คุณย่าก็หาว่าทอดทิ้ง ไม่มีใครใส่ใจ จนส่งผลเสียต่อสุขภาพกายใจไปอีก จนสงสัยว่า เจอแบบนี้ ทางออกอยู่ตรงไหน?

หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า “การสื่อสาร” คือเครื่องมือสำคัญที่จะเปลี่ยนบรรยากาศจากร้ายให้กลายเป็นดี ทุเลาความขัดแย้ง กระทบกระทั่ง รวมทั้งลดช่องว่างระหว่างวัยระหว่างกันลงอย่างเห็นผล ปรับมุมมองต่อผู้สูงวัย

“ไม่แก่บ้างก็แล้วไป” เมื่อยอมรับความจริงได้ว่าทุกคนหนีไม่พ้นความชรา ฉะนั้นเรามาเรียนรู้ระยะนี้ของชีวิตกันล่วงหน้า อันดับแรก ทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้สูงอายุมักมีปัญหาความเสื่อมสภาพของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร เริ่มตั้งแต่ความจำที่บกพร่องตามวัย จำแม่นแต่เรื่องเก่าๆ สายตาฝ้าฟางมองเห็นได้ไม่ชัดเจน พูดช้าลงเพราะสมองรับรู้และตอบสนองช้าลง หูตึง ฯลฯ

ด้วยปัจจัยที่ว่ามา จึงเป็นธรรมดาที่การรับรู้และการตอบสนองของผู้สูงวัยจะล่าช้าไปบ้าง ผู้ดูแลหรือลูกหลานต้องใจเย็น อดทน ให้เวลา และปรับการสื่อสารให้เหมาะสม ดังนี้

  1. ผู้สูงวัย ไม่ใช่เด็ก อย่าลืมว่าในอดีต ท่านเหล่านั้นเคยเป็นผู้นำครอบครัว เป็นผู้ใหญ่ที่ลูกหลานเกรงใจให้ความเคารพ พออายุมากขึ้น ร่างกายเสื่อมถอย บทบาทการนำลดลง แล้วลูกหลานยังทำให้รู้สึกว่าไม่มีคุณค่า ก็จะเป็นการบั่นทอนสภาพจิตใจผู้สูงอายุ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกัน
  2. สื่อสาร สมวัย เมื่อเข้าใจข้อจำกัด การพูดคุยกับผู้สูงอายุจึงอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ ผู้สูงอายุอาจมีช่องว่างในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารยุคใหม่ เช่น คำศัพท์ไอทีในชีวิตประจำวัน การใช้อุปกรณ์ที่ยุคก่อนไม่มี อย่างสมาร์ทโฟน รีโมทคอนโทรลที่มีปุ่มเต็มไปหมด ฯลฯหาวิธีอธิบายง่ายๆ ไม่หงุดหงิดที่จะต้องพูดซ้ำในเรื่องเดิมๆ
  3. ช้าๆ ชัดๆ เทคนิคการพูดกับผู้สูงอายุ คือใช้คำพูดสั้นๆ เข้าใจง่าย เสียงดังฟังชัด พูดให้ช้าลง และอาจใช้ภาษากายช่วยเวลาพูดคุย เช่น จับไม้จับมือ โอบกอดท่านบ้างเวลาพูดหรือเตือนเรื่องใดก็ตาม
  4. เรื่องเก่า เล่าซ้ำ ผู้สูงอายุชอบเล่าเรื่องเก่าๆ ซ้ำไปซ้ำมา อย่าเพิ่งเบื่อ แต่ใช้วิธีชวนคุยให้ผู้สูงอายุได้ทบทวนรายละเอียดของเรื่องราว ตั้งคำถามถึงมุมมอง คุณค่าที่คนในยุคนั้นยึดถืออาจทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวในแง่มุมที่แตกต่างไปจากเดิม ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้สูงวัย ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่นและเพลิดเพลิน

ที่มา : เครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อเด็กและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://bit.ly/3JaFSXE


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท