ใช้ยาคุมฉุกเฉินเมื่อจำเป็น เลือกถุงยางอนามัยที่ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัย
หมวดหมู่หลัก: ดูแลตัวเองและครอบครัว
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
15-03-2022 11:45
หญิงสาวหลายรายมักใช้ยาคุมฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงมีคำแนะนำให้ผู้ใช้ยาระวังและทำความเข้าใจในการใช้ยาชนิดนี้
หญิงสาวหลายรายมักใช้ยาคุมฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงมีคำแนะนำให้ผู้ใช้ยาระวังและทำความเข้าใจในการใช้ยาชนิดนี้ เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินเป็นชนิดฮอร์โมนเดี่ยว มีส่วนประกอบของโปรเจสโตเจนปริมาณสูง มี 2 ขนาดคือ 0.75 มิลลิกรัมต่อเม็ดและ 1.5 มิลลิกรัมต่อเม็ด มีการใช้ได้ 2 แบบ คือ
- แบบแรก กินยาขนาด 0.75 มิลลิกรัม เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ ที่ไม่ได้ป้องกัน และเม็ดที่ 2 กินภายใน 12 ชั่วโมงต่อมา
- แบบที่สอง คือ กินยาขนาด 1.5 มิลลิกรัม เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรือภายใน 72 ชั่วโมง
การใช้ทั้ง 2 แบบให้ผลไม่ต่างกัน แต่ยาคุมฉุกเฉินควรใช้ในกรณีที่ไม่ได้ใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นๆ หรือมีความผิดพลาดจากการคุมกำเนิด เช่น ถุงยางรั่วหรือแตก การลืมกินยาคุมมากกว่า 3 วัน เป็นต้น และควรใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้นเพราะแม้จะควบคุมการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยจากการตั้งครรภ์ 100% รวมถึงไม่สามารถป้องกันโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ และยังมีผลข้างเคียงของยา คือ ประจำเดือนมาไม่ปกติ เลือดออกกะปริบกะปรอย รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มีอาการปวดท้องคล้ายกับตอนมีประจำเดือน จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมฉุกเฉินแทนการคุมกำเนิดปกติ
วิธีการที่ดีในการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ การใช้ถุงยางอนามัย
เราควรให้ความสำคัญการเลือกซื้อการใช้ถุงยางอนามัยที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัย ดังนี้
- อ่านฉลากอย่างละเอียด ตรวจดูเครื่องหมาย อย. วันที่ผลิต วันหมดอายุ
- ใช้ให้เหมาะสมกับขนาดของอวัยวะเพศ
- ใช้เพียงครั้งเดียว และสวมเพียงชั้นเดียวเท่านั้น เพราะการใส่ถุงยางอนามัยหลายชั้นจะทำให้เกิดการเสียดสีกันและฉีกขาดได้
- ไม่ควรใช้น้ำมันทาผิว โลชั่น หรือปิโตรเลียมเจลลี แทนสารหล่อลื่น เพราะถุงยางอนามัยจะเสื่อมประสิทธิภาพและฉีกขาด ได้ง่าย
- การเก็บรักษา ควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น ไม่เก็บไว้ในที่มีความชื้นสูง ร้อน หรือโดนแสงแดด เพราะจะทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมคุณภาพ
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/170700