โรคเสี่ยงของชาวนักบิดทำงานบนจักรยานยนต์
หมวดหมู่หลัก: ฟรีแลนซ์
หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ
14-03-2023 08:10
ไรเดอร์ส่งอาหาร แมสเซนเจอร์ส่งพัสดุ หรือพี่วินมอเตอร์ไซค์ เป็นอาชีพสุดฮอตที่มีเวลาว่างจากงานประจำเมื่อไหร่ คนส่วนใหญ่จะเลือกอาชีพนี้เป็นอันดับต้นๆ แต่การขับขี่รถจักรยานยนต์หลายชั่วโมงต่อเนื่อง การทำงานท่ามกลางแดดร้อน แสงจ้า การขับขี่ที่ต้องเกร็งข้อมือบิดแฮนด์ เกร็งตัวเพื่อขี่รถให้สมดุล หลายปัจจัยอาจเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยหรืออาการบาดเจ็บ ก็อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงป่วยแบบไม่ทันตั้งตัวได้เหมือนกัน
ไรเดอร์ส่งอาหาร แมสเซนเจอร์ส่งพัสดุ หรือพี่วินมอเตอร์ไซค์ เป็นอาชีพสุดฮอตที่มีเวลาว่างจากงานประจำเมื่อไหร่ คนส่วนใหญ่จะเลือกอาชีพนี้เป็นอันดับต้นๆ แต่การขับขี่รถจักรยานยนต์หลายชั่วโมงต่อเนื่อง การทำงานท่ามกลางแดดร้อน แสงจ้า การขับขี่ที่ต้องเกร็งข้อมือบิดแฮนด์ เกร็งตัวเพื่อขี่รถให้สมดุล หลายปัจจัยอาจเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยหรืออาการบาดเจ็บ ก็อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงป่วยแบบไม่ทันตั้งตัวได้เหมือนกัน
โรคเสี่ยงของชาวนักบิดทำงานบนจักรยานยนต์ ได้แก่
1. โรคฮีทสโตรก
สาเหตุ : ขี่รถตากแดดเป็นเวลานาน สภาพแวดล้อมบนถนนที่มีทั้งไอเสีย เครื่องยนต์ และจำนวนรถแออัดทำให้มีอุณหภูมิสูง และการใส่เสื้อผ้ามิดชิดที่ระบายอากาศไม่ดีเท่าที่ควร
อาการ : ผู้ขับขี่มีร่างกายร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อ รู้สึกกระหายน้ำรุนแรง หายใจถี่ ชีพจรเต้นแรง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
วิธีแก้ : คนที่ทำงานขี่รถจักรยานยนต์กลางแจ้ง ควรจัดเวลาพักดื่มน้ำทุก ๆ ชั่วโมง ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศหรือถอดเสื้อตัวนอกบางเวลาให้ผ่อนคลาย ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบตามร่างกาย
2. โรคเอ็นข้อมืออักเสบ
สาเหตุ : ลักษณะการขี่จักรยานยนต์ต้องใช้ข้อมืออยู่ตลอดเวลาเพื่อจับ / บิดแฮนด์รถ หากผู้ขับขี่ไม่ได้ยืดกล้ามเนื้อหรือจับผิดท่าทำให้เกิดการกดทับที่เดิมซ้ำๆ มีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบได้
อาการ : รู้สึกเจ็บ ปวด แปลบ ๆ ที่ข้อมือหรือนิ้วโป้ง เวลาไม่ได้ขยับตัว อาจพบก้อนที่บริเวณข้อมือ ผิวหนังแสบร้อน เจ็บเมื่อกดบริเวณเอ็น ใต้รอยต่อข้อมือ ถัดจากโคนนิ้วโป้งลงมา
วิธีแก้ : ควรมีการยืดและบริหารข้อมือก่อนและหลังขับขี่รถ หรือสวมถึงมือสำหรับการขับขี่รถเพื่อช่วยยึดข้อมือไม่ให้ขยับมากเกิน ไม่นั่งหลังค่อมเวลาขี่รถเพราะอาจจะต้องใช้แรงที่ข้อมือมากขึ้น
3. โรคหมอนรองกระดูก
สาเหตุ : ขี่รถจักรยานยนต์ผิดท่าและเกร็งคออยู่ท่าเดิม ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
อาการ : ปวดตามกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เรื้อรัง เช่น หลัง คอ ท้ายทอย และรู้สึกอ่อนแรงหลังลงจากรถ
วิธีแก้ : เมื่อเลิกขับขี่รถจักรยานยนต์ควรแบ่งเวลายืดกล้ามเนื้อ หรือนอนคว่ำแล้วประคบร้อนที่หลังให้กล้ามเนื้อที่ตึงผ่อนคลาย เวลาขี่รถควรนั่งหลังตรง เพื่อไม่ให้กระดูกเกิดอักเสบหรือทับเส้นประสาท
4. โรคต้อกระจก
สาเหตุ : การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตจากแดดจ้าเข้าตาเป็นเวลานาน ๆ มีสิ่งแปลกปลอม เช่น ฝุ่น ควันพิษ เข้าตาและไม่ได้ทำความสะอาด
อาการ : สายตาพร่า ปวดตา เคืองตา เห็นภาพซ้อนหรือสีเพี้ยนจากความจริง หรือมองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะเวลาขณะขับรถในตอนกลางคืน
วิธีแก้ : ป้องกันดวงตาเวลาขี่รถโดยสวมแว่นตากันลม กันแดด หรือหมวกกันน็อคที่มีฟิล์มกันรังสียูวี กินอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา และล้างตาด้วยน้ำสะอาดหากรู้สึกถึงสิ่งแปลกปลอม
สิ่งสำคัญของผู้ที่ทำงานโดยขี่รถจักรยานยนต์ คือ ความปลอดภัยและวินัยจราจร ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีสติและไม่ประมาท รวมถึงเตรียมพร้อมร่างกายให้สมบูรณ์ก่อนการขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและไม่สร้างผลกระทบต่อผู้ร่วมทางบนท้องถนน
ที่มา
1.โรครว้ายๆ วัยทำงาน https://bit.ly/3ZEdaFJ
2.ข้อมูลโดย : กรมอนามัย, โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลไทยนครินทร์, โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลศิครินทร์