Facebook หมอชาวบ้าน Youtube หมอชาวบ้าน


โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน

< กลับหน้าหลัก

ลูกฉี่รดที่นอน สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม


หมวดหมู่หลัก: พ่อแม่มือใหม่

หมวดหมู่ย่อย: อื่นๆ

08-03-2023 11:21

การปัสสาวะรดที่นอนเป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งจะถือว่าเป็นความผิดปกติต่อเมื่อเกิดขึ้นในเด็กที่ควรจะควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้แล้วแต่เด็กยังควบคุมไม่ได้ คือ ในเด็กที่มีอายุอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป

ภาพประกอบเคส

การปัสสาวะรดที่นอนเป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งจะถือว่าเป็นความผิดปกติต่อเมื่อเกิดขึ้นในเด็กที่ควรจะควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้แล้วแต่เด็กยังควบคุมไม่ได้ คือ ในเด็กที่มีอายุอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป โดยการปัสสาวะรดที่นอนเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เป็นเวลาติดต่อกัน 3 เดือน และไม่ได้เป็นผลมาจากการใช้ยา เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือเกิดจากโรคทางกาย เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น

สาเหตุของการฉี่รดที่นอน

  1. หลับลึก จึงไม่รู้สึกตัวเวลาปัสสาวะรดที่นอน
  2. กระเพาะปัสสาวะเล็ก หรือบีบตัวไวเกินไป
  3. ปริมาณปัสสาวะมาก
  4. ปัจจัยอื่น ๆ จากตัวเด็กที่มักพบร่วมกัน ได้แก่ พัฒนาการล่าช้า สมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง มีปัญหานอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ มีปัญหาการเรียนหรือความเครียด เช่น การไปโรงเรียน พ่อแม่หย่าร้าง

แม้ภาวะปัสสาวะรดที่นอนส่วนมากจะหายได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น แต่ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว ทั้งในด้านจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครอง

นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดโรคที่มาจากอาการปัสสาวะรดได้ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ความผิดปกติของโครงสร้างของระบบการขับถ่ายปัสสาวะ โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน เบาจืด เป็นต้น ฉะนั้นเด็กที่มีปัญหาเหล่านี้จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ

ปัจจัยที่ทำให้เด็กฉี่รดที่นอน

การปัสสาวะรดที่นอนเป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็ก แต่น่าจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่

  • พันธุกรรม
  • ความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมน ADH ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปริมาณปัสสาวะ
  • การทำงานของกระเพาะปัสสาวะ โดยเด็กจะรู้สึกปวดปัสสาวะถึงแม้มีปริมาณปัสสาวะไม่มาก
  • การนอนหลับซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของวงจรการนอนหลับ
  • ความล่าช้าของพัฒนาการในการควบคุมการปัสสาวะ
  • ท้องผูก เกิดก้อนอุจจาระกดทับกระเพาะปัสสาวะทำให้ความจุของกระเพาะปัสสาวะลดลง
  • ความเครียดอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการปัสสาวะรดเป็นมากขึ้นหรือทำให้อาการกลับมาเป็นใหม่ในเด็กที่เคยควบคุมการปัสสาวะได้แล้ว

อาการแบบไหนควรไปหาหมอ

  • ปัสสาวะผิดปกติช่วงกลางวัน เช่น ปัสสาวะราด ปวดปัสสาวะแล้วรอไม่ได้
  • ปัสสาวะน้อยกว่า 4 ครั้ง หรือมากกว่า 7 ครั้งต่อวัน
  • มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด ดื่มน้ำเยอะผิดปกติ

เคล็ดลับช่วยลูกไม่ให้ฉี่รดที่นอน

  • คุณพ่อคุณแม่ควรมองว่าปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องพัฒนาการในการควบคุมการขับถ่าย โดยจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น จึงไม่ควรลงโทษ หรือตำหนิ แต่ควรแสดงความเข้าใจ และเป็นกำลังใจ
  • ช่วยลูกปรับพฤติกรรมโดยใช้แรงจูงใจทางบวก คือ มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กจะได้รับเมื่อไม่ปัสสาวะรดที่นอน รวมทั้งสิ่งที่เด็กจะต้องปฏิบัติถ้าปัสสาวะรดที่นอน โดยให้สอดคล้องกับความสามารถของเด็ก
  • เลือกใช้เครื่องปลุกเตือนปัสสาวะรด เป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดในปัจจุบัน แต่ในประเทศไทยเครื่องมือดังกล่าวยังใช้ไม่แพร่หลาย อีกทั้งมีราคาค่อนข้างสูง
  • การฝึกกระเพาะปัสสาวะ เป็นวิธีที่ทำง่ายๆ โดยให้เด็กดื่มน้ำมากๆ ในช่วงกลางวัน และเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะให้เด็กฝึกกลั้นไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ร่วมกับปรับอาหารและเครื่องดื่ม โดยปรับให้เด็กดื่มน้ำมากขึ้นในช่วงเช้าถึงบ่าย ด้วย
  • ลดการดื่มน้ำในช่วงเย็นโดยเฉพาะช่วง 2 ชั่วโมง ก่อนเข้านอน ควรมีการจำกัดปริมาณน้ำ และพาเด็กปัสสาวะก่อนเข้านอนทุกครั้ง

ปัญหาปัสสาวะรดที่นอนเป็นปัญหาที่เจอได้บ่อย และดีขึ้นเมื่ออายุโตขึ้น หากพ่อแม่เข้าใจและให้เวลา เด็กก็จะสามารถดีขึ้นและหายได้เอง แต่หากกังวลใจหรือปรับพฤติกรรมแล้ว ยังไม่ดีขึ้น แนะนำปรึกษากุมารแพทย์เพื่อรักษาต่อไป

ที่มา :
1.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) https://bit.ly/3ZsPcNn
2.thaipbskids แฟนเพจเลี้ยงลูกโตไปด้วยกัน https://bit.ly/3YnDrXb


สอบถาม
เพิ่มเติมกับ
แชทบอท